การทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านมาแล้วกว่า 1 สัปดาห์ มีคำสั่งต่างๆออกมามากมาย ทั้งการห้ามชุมนุม การประกาศเคอร์ฟิว รวมไปถึงการสั่งให้บุคคลต่างๆมารายงานตัว
มาตรการเหล่านี้แม้จะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็มีผลกระทบมาถึงการรวมกลุ่มของขบวนการแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7 ห้ามมิให้มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
หลังจากนั้นก็ยังมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยให้คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 - 112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 -118 รวมไปถึงความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
ซึ่งในส่วนของ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 117 นั้น ระบุว่า ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วม กันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจ กับบุคคลใด ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อ บังคับรัฐบาล หรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าวและเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้า ขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใด ๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าว และใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือทำให้หวาดกลัวด้วยประการใด ๆ เพื่อ ให้บุคคลเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิด งานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับ บุคคลใด ๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การออกคำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการเจรจาประนอมข้อพิพาทแรงงาน ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ กับนายจ้าง การชุมนุมประท้วงโดยใช้สิทธิภายใต้กฎหมายแรงงาน ต้องถูกระงับไว้ชั่วคราว เช่น สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทยและนายจ้างบริษัททีเอออโตโมทีฟพาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด มีการเจรจากันมาถึง 13 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องเร่งจบข้อพิพาททันที ในวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยบริษัทรับคนงานกลับเข้าทำงานไปก่อน เพื่อไม่ให้ขัดกับคำสั่งและประกาศ คสช.
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากคำสั่งห้ามชุมนุมในระยะสั้นถือว่ามียังไม่มาก เพราะปกติแล้วฤดูการชุมนุมปิดงานของผู้ใช้แรงงานจะเกิดประมาณช่วงต้นปี เนื่องจากเป็นเวลาของการเจรจาต่อรองสัญญาจ้างงานและการต่อรองโบนัส หากเจรจาตกลงกับนายจ้างไม่ได้ถึงจะชุมนุมกัน ขณะที่ห้วงเวลาการทำรัฐประการรอบนี้ สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ได้เจรจาข้อพิพาทเสร็จไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การรวมตัวชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ จะทำได้ยากเพราะคำสั่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าห้ามหยุดงานปิดงานใดๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ตัวนายจ้างเองก็ต้องไม่ทำให้เกิดข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน และหากพิเคราะห์ถึงท่าทีและแนวนโยบายของ คสช.ที่ต้องการเร่งโครงการลงทุนต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนแล้ว อาจมองได้ว่าให้น้ำหนักกับการลงทุนเป็นหลัก และจะเป็นคำถามว่าสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานจะได้รับความสนใจมากน้อยเพียงใด
ด้าน ชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าวว่า กิจกรรมของกลุ่มแรงงานยังสามารถดำเนินการได้หากไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง การประชุมใหญ่ต่างๆยังทำได้ ไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า หาก คสช.ยังไม่ยกเลิกประกาศคำสั่งดังกล่าว อาจจะมีปัญหาในการทำกิจกรรมของแรงงาน เพราะประมาณเดือน ส.ค. - ก.ย. - ต.ค. จะเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของการยื่นข้อเรียกร้องสภาพการจ้างงานต่อนายจ้าง ซึ่งจะต้องมีการเจรจา การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ลูกจ้างก็ต้องเปิดประชุมเพื่อขอมติหยุดงาน ส่วนนายจ้างก็อาจมีคำสั่งปิดงาน แต่หากเมื่อมีคำสั่ง คสช.อยู่ ขั้นตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้
"ถึงตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะยกเลิกคำสั่งหรือยัง ถ้ายัง การหยุดงาน ปิดงาน ก็ทำไม่ได้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็อาจต้องส่งเรื่องให้ คสช. ตัดสิน ซึ่งข้อเสียคือถ้าเขาตัดสินมาแบบไหน โอกาสที่คนงานจะไปต่อรองเพิ่มเติมก็ทำได้ยาก"ชาลี กล่าว
- 81 views