วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2457 นับเป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดสอนวิชาการพยาบาลในประเทศไทย โดยได้วิวัฒนาการมาจากโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยาม เป็นโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยสภากาชาดไทย จนถึงวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยในปัจจุบัน

สถาบันนี้อยู่ในพระราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดสยามเมื่อเริ่มเปิดดำเนินการ โรงเรียนนี้ขึ้นอยู่กับแผนกศึกษาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (กองพยาบาลทหารบกกลาง กระทรวงกลาโหม) โดยมี ร้อยโทชื่น พุทธิแพทย์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) นายแพทย์ทหารบก ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในขณะนั้นเป็นผู้จัดฝึกสอนอบรม ในชั้นแรกหลักสูตรมีกำหนด 1 ปี คุณสมบัติผู้เรียนเป็นสตรีโสด อายุระหว่าง 16-30 ปี พื้นความรู้มัธยมปีที่ 1 หรือเทียบเท่า กำหนดให้มีการสอบไล่ปีละ 2 ครั้งคือสอบกลางปีและปลายปี มีผู้สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรในปีแรกเพียง 4 คน และในปลายปี 2457 มีผู้สมัครเข้าเรียนถึง 26 คน สอบไล่ได้ในปี 2458 จำนวน 10 คน

ส่วนอาคารเรียนและที่ทำการหลังแรกของวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย(โรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยาม) คือ“ตึกสุทธาทิพย์”สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 5) เจ้าฟ้าสุทธาทิพย์รัตนสุขุมขัติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร สมเด็จพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวีซึ่งมีพระประสงค์ให้สร้างตึกขนาดใหญ่ขึ้นในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชั้นบนเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยชั้นสูง เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน มีห้องพักสำหรับพยาบาลห้องผ่าตัดห้อง สมุดและห้องรับรองแขก ส่วนชั้นล่างใช้เป็นที่พักสำหรับนักเรียนพยาบาลและห้องเรียน โดยพระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินสองแสนบาท ในวโรกาสคล้ายวันประสูติ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2460 เพื่อสร้างตึกนี้

ตึกสุทธาทิพย์ได้เปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2463 ภายหลังการโอนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาเป็นของสภากาชาดสยาม พ.ศ.2459 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม ทรงสนับสนุนความคิดเรื่องการประสานงานระหว่างสภากาชาดกับโรงเรียนราชแพทยาลัย ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยทรงนำเสนอ จึงเริ่มมีการส่งนักเรียนมาเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และนางพยาบาลส่งนักเรียนชั้นปีที่ 2 มาฝึกหัดการพยาบาลชุดละ 6 เดือน แล้วเข้าสอบไล่ตามหลักสูตรของโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยาม และเมื่อสอบไล่ได้ก็จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาพยาบาลของโรงเรียนฯ ในขณะเดียวกัน นักเรียนของโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยามที่เรียนสำเร็จวิชาการพยาบาลแล้ว ถ้าต้องการเรียนวิชาการผดุงครรภ์เพิ่มเติม ก็จะให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และนางพยาบาลอีก 1 ปี และเมื่อสอบไล่ได้ก็จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาผดุงครรภ์ของโรงเรียนแห่งนั้น การแลกเปลี่ยนนี้ได้ยกเลิกไป เมื่อโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยามได้เปิดสอนหลักสูตรการผดุงครรภ์ขึ้นเอง ใน พ.ศ.2466  และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ได้ตามฐานฐานสากล

       

พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นปีที่วิทยาลัยพยาบาลฯ เปิดดำเนินการมาครบปีที่ 84 ได้มีการก่อตั้งทุนสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพย์ เพื่อเก็บดอกผลบำรุงกิจการของวิทยาลัยพยาบาลฯ ในด้านการพัฒนาคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และทะนุบำรุงตึกสุทธาทิพย์อาคารอนุรักษ์ของวิทยาลัยพยาบาลฯ และได้มีระเบียบการเกี่ยวกับรางวัลเจ้าฟ้าสุทธาทิพย์เพื่อเชิดชูเกียรติ ศิษย์เก่าฯ ที่นำชื่อเสียงมาสู่สถาบันและเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์แก่วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย นอกจากนั้น วิทยาลัยพยาบาลฯ ยังเริ่มดำเนินการโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยกับมหาวิทยาลัย Malaspina ประเทศแคนาดา 
พ.ศ.2543 วิทยาลัยพยาบาลฯ มีนโยบายและดำเนินงานในด้านการประกันคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจน และพัฒนาระบบประกันคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิทยาลัยพยาบาลฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและเกียรติบัตรมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพ 2 รางวัล คือ การให้บริการวิชาการ/บริการวิชาชีพแก่สังคมและรางวัลการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมคุณธรรมและจริยธรรม เมื่อวันที่ 27 กันยายน  2548 ในงาน CU Quality Prize ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2554-2558ได้รับการรับรองสถาบันการศึกษาวิชาการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากสภาการพยาบาล ระหว่างปีการศึกษา 2555 – 2558 

และด้วยรากฐานที่มั่นคงและแข็งแกร่งของโรงเรียนพยาบาลสภากาชาดสยาม ตั้งแต่ พ.ศ.2457 จนถึงปัจจุบัน ได้ผลิตพยาบาลที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติเป็นจำนวนกว่า 9,190 คน ผลิตผู้ช่วยพยาบาลจำนวนกว่า 2,049 คน และผลิตผู้สำเร็จหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางจำนวนกว่า 1,944 คน บุคคลเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านสุขภาพของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีบทบาททางสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นที่ยกย่องและยอมรับนับถือโดยทั่วไป ถือเป็นความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิของสถาบัน และถือเป็นภาระหน้าที่ของเราที่จะต้องธำรงไว้และสืบสานอุดมการณ์ของวิทยาลัย พยาบาลฯ และสภากาชาดไทยตลอดไป ตามปณิธานที่ให้ไว้

“วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาความรู้ทางการพยาบาล เพื่อสร้างบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ที่มีความสามารถเชิงวิชาชีพสูง และมีความเป็นสากล บนพื้นฐานมนุษยธรรม รวมทั้งเพิ่มความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้แก่สังคม”