ชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียฯ เผย 5 ปี ความร่วมมือ แพทย์ผู้ให้การรักษา สธ. สภากาชาดไทย และ สปสช. ส่งผลผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย กว่า 1.3 พันคนเข้าถึงการรักษา รับยาคุณภาพ ลดความทุกข์ทรมานจากภาวะเลือดออกง่าย เผยได้ยาแฟคเตอร์เดือนละ 3 ขวด อยากให้สปสช.เพิ่มเป็น 4 ขวดในผู้ใหญ่ เพื่อให้เพียงพอในการใช้งาน
นายเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคฮีโมฟีเลียในอดีตเป็นโรคที่ผู้ป่วยต่างมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย จึงได้ร่วมกับมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย แพทย์ผู้ให้การรักษา สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผลักดันสิทธิประโยชน์การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึง ซึ่งนอกจากการเข้าถึงยาแฟคเตอร์เพื่อช่วยให้เลือดเกิดภาวะแข็งตัวที่มีราคาแพงมากแล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย ทั้งการให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมตำบล (รพ.สต.) การพัฒนาระบบการจัดส่งยา รวมไปถึงการตั้งเครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย 5 ภาค และการสนับสุนนชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียฯ
ทั้งนี้จากความร่วมมือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. พบว่าช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้จากภาวะเลือดออกง่ายได้มาก จากการเข้าถึงยาแฟคเตอร์ ซึ่งเมื่อก่อนผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเข้ารับการรักษาและรับยาได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ที่เป็นโรงเรียนแพทย์เท่านั้น อย่าง รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.ขอนแก่น เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้มีการกระจายยาไปยัง รพ. 48 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังให้ผู้ป่วยสามารถจัดเก็บสต๊อกยาไว้ที่บ้าน เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินที่เกิดภาวะเลือดออกได้ทัน ที่เป็นการลดภาระแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ทั้งนี้ปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียประมาณ 1,300 ราย
“การสต๊อกยาแฟคเตอร์ไว้ที่ผู้ป่วย ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก เพราะบางครั้งที่เกิดภาวะเลือดออกในข้อ แม้แต่หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์อาจจะไม่ทราบหรือวินิจฉัยไม่ได้ โดยเฉพาะภาวะเลือดออกในช่วงแรก ซึ่งผู้ป่วยเองเท่านั้นจะทราบ เพราะจะมีอาการตึง เริ่มบวมแข็ง และมีอาการปวดอย่างมาก หากฉีดยาได้เองจะช่วยระงับอาการที่เกิดขึ้นได้” รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย กล่าว และว่า สำหรับราคายาแฟคเตอร์จะอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อขวด เฉลี่ยผู้ป่วยต้องใช้ยา 3-4 ขวดต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันสปสช.สต๊อกยาแฟคเตอร์ให้ผู้ป่วยเดือนละ 3 ขวด ตรงนี้ทางชมรมอยากให้เพิ่มเป็น 4 ขวดในผู้ใหญ่ เพื่อให้เพียงพอในการใช้งาน
นายเอกวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้สิทธิประโยชน์การรักษาโรคฮีโมฟีเลียในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังช่วยลดภาวะการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบเอ, บี และซี เนื่องจากก่อนหน้านี้ยาที่ผู้ป่วยใช้รักษานั้น เป็นยาที่มีส่วนประกอบจากเลือด จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะติดเชื้อเหล่านี้ได้ ต่างจากยาแฟคเตอร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งทาง สปสช.ได้กำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์เพื่อให้กับผู้ป่วย
- 26 views