กรมวิทยาศาสตร์กรมการแพทย์ ย้ำเตือน 'โรคพิษสุนัขบ้า' ยังไม่มียารักษา หากติดเชื้อไวรัส-แสดงอาการ เสียชีวิตทุกราย! แต่ฉีดวัคซีนป้องกันได้ ขณะเดียวกันเจ้าของสัตว์เสี้ยงต้องหาสุนัข-แมว ฉีดวัคซีนทุกปีตามที่แพทย์กำหนด
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีเชื้อเรบีส์ไวรัส (Rabies Virus) เป็นสาเหตุของโรค โดยในประเทศไทยจะพบมากในสุนัขและแมว ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ลิง กระรอก หนู โค กระบือ ก็สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน ซึ่งระยะเวลาที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนแสดงอาการส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วันหรือยาวเกินกว่า 1 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และโรคนี้สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อน
โดยอาการของโรคมักเป็นการอักเสบของสมองและเยื่อสมอง 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ ชา เจ็บเสียวหรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรกแบบคลุ้มคลั่ง อาจมีอาการกระวนกระวาย ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ประสาทหลอน อาจมีชัก หายใจหอบ หมดสติและเสียชีวิตในที่สุด และกลุ่มที่ 2 แบบอัมพาต เป็นอาการที่พบได้น้อย โดยมีอาการอัมพาตของแขน ขา พูดไม่ชัด น้ำลายมาก มีอาการกลัวน้ำ กลัวลม พบได้ประมาณร้อยละ 50 หลังแสดงอาการจะอยู่ได้นานกว่าแบบคลุ้มคลั่งและจะเสียชีวิตในที่สุด
"เมื่อถูกสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้ถึงก้นแผล แล้วล้างสบู่ออกให้หมดและใส่ยาฆ่าเชื้อจะช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 จากนั้น ให้รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ถ้าคนหรือสัตว์ที่ได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า และแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตทุกราย แต่สามารถป้องกันโรคได้ด้วยวัคซีน ส่วนผู้มีโอกาสสัมผัสสัตว์ หรือสัตว์เลี้ยงที่บ้านควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามโปรแกรมที่กำหนด ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 กำหนดให้ลูกสุนัขทุกตัวต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปีหรือตามที่สัตวแพทย์กำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และต้องห้อยเหรียญแสดงการฉีดวัคซีนด้วย" นพ.อภิชัย กล่าว
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า การตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าในคน ที่สงสัยป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าด้วยเทคนิค 3 วิธี ได้แก่ วิธี Fluorescence Antibody Technique (FAT) ใช้ตัวอย่างเนื้อสมอง อย่างน้อย 5 มิลลิกรัม และเซลล์กระจกตาที่แตะบนกระจกสไลด์สะอาด 2 จุด วิธีที่ 2 Cell Isolation ตรวจในตัวอย่างเนื้อสมองอย่างน้อย 5 มิลลิกรัม น้ำไขสันหลัง 3 มิลลิลิตร น้ำลาย 5-10 มิลลิลิตร ปัสสาวะ 10-20 มิลลิลิตร และเทคนิคสุดท้ายคือ Nested RT-PCR สามารถตรวจได้ทั้งในตัวอย่างเนื้อสมอง น้ำไขสันหลัง น้ำลาย ปัสสาวะและเซลล์กระจกตา (ปริมาตรเท่ากับการเก็บตัวอย่างตรวจด้วยวิธีที่ 1และ 2) โดยเก็บตัวอย่างใส่ในหลอดบรรจุตัวอย่างที่สะอาด แล้วติดฉลาก ชื่อ นามสกุล ผู้ป่วยที่ข้างหลอดบรรจุตัวอย่าง นำหลอดบรรจุตัวอย่างใส่ในถุงพลาสติกกันน้ำ มัดถุงให้แน่นใส่ในภาชนะเก็บความเย็นที่บรรจุน้ำแข็ง กรอกประวัติและอาการของผู้ป่วยที่ตรวจพบ และวันที่เก็บตัวอย่างให้ชัดเจนในแบบฟอร์มนำส่งตัวอย่าง รีบนำส่งห้องปฏิบัติการทันที หากไม่สามารถนำส่งได้ทันที ให้เก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าในคน กรณีที่ฉีดวัคซีนภายหลังถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ กัด หรือฉีดวัคซีนเพื่อการป้องกันโรคแล้วต้องการทราบว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ โดยใช้ตัวอย่างน้ำเหลือง 2 มิลลิลิตร ภายหลังฉีดวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน
- 135 views