วันนี้ (28 เมษายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคอีโบล่าที่พบในทวีปแอฟริกาว่า ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคอีโบล่าในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในการป้องกันโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคเมอร์ส- โควี โรคอีโบล่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการในการเฝ้าระวัง สามารถตรวจจับสัญญาณเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และการเตรียมสถานพยาบาล ทั้งเทคนิคการป้องกันตนเอง การป้องกันการติดเชื้อ การแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งไทยมีความพร้อม รวมทั้งมีทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำช่วยเหลือด้านเทคนิคต่างๆ
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอีโบล่า มีส่วนเหมือนโรคเมอร์ส -โควี คือ เป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และเกิดในต่างประเทศ แต่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่า จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก คือมีไข้ มีเลือดออก การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว ขณะที่โรคเมอร์ส-โควี เกิดจากโคโรน่าไวรัส มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ โรคอีโบล่า ระบาดที่แอฟริกาตะวันตก เช่น กีนี เซล่าลีโอ และมาลี คนไทยที่จะไป 3ประเทศนี้ มีน้อยกว่าผู้ที่เดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลางค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านการทูต จากการวิเคราะห์พบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงค่อนข้างน้อย เพราะมีระบบการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ดี และมีผู้เดินทางไปแอฟริกาน้อย อย่างไรก็ตาม ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายยังคงมีความสำคัญมาก เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการแพร่กระจายเชื้อเข้าสู่ประเทศเมื่อใด
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อจำกัดในการเดินทางไปต่างประเทศแต่อย่างใด การป้องกันโรคขณะนี้ ใช้ 4 มาตรการคือ 1.ออกคำเตือนผู้ที่จะเดินทางไป และทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางไปประเทศที่พบการระบาด 2.มีระบบการตรวจคัดกรอง และให้ความรู้ประชาชนหลังเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด ภายใน 14 วัน หากมีอาการไข้ เลือดออกผิดปกติ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางกลับจากต่างประเทศแก่แพทย์ด้วย 3.การตรวจหาเชื้อ ทางห้องปฏิบัติการ โดยส่งเชื้อจากผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย ตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ4.การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ เรากลัวว่าคนที่เดินทางเข้ามาหรือคนไทยที่กลับจากการเดินทางไปพื้นที่ระบาด และติดเชื้อเข้ามา แต่เชื้ออยู่ในระยะการฟักตัวและจะมาเกิดอาการที่ประเทศไทย ซึ่งหากระบบป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลไม่เข้มงวด ก็มีโอกาสแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ ได้ โดยไข้เลือดออกจากไวรัสอีโบล่าจะติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดคล้ายกับเอดส์ คือ ติดจากสารคัดหลั่ง เช่น เลือด การร่วมเพศ เข็มฉีดยา ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกที่เป็นโรคประจำถิ่นของไทยที่ติดต่อจากยุงลาย ดังนั้นหากเกิดโรคนี้ขึ้นในไทย จึงมีความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลมากกว่าตามบ้าน เช่นที่เกิดขึ้นในแอฟริกา
“ขณะนี้ ยังไม่ยา หรือวัคซีนในการรักษาโรคนี้ อย่างไรก็ตาม มีความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมป้องกันโรคนี้ได้ เนื่องจากไทยมีความเข้มแข็ง และขีดความสามารถ ทั้งระบบการเฝ้าระวังป้องกัน ระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วย มีทั้งห้องแยก ระบบป้องกันการติดเชื้อ การอบรมแพทย์ พยาบาลเจ้าหน้าที่หากมีผู้ป่วย และมีระบบการตรวจชันสูตรเชื้อโรคทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจยืนยันเชื้อ ทั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัย” ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐกล่าว
- 1 view