กรมสุขภาพจิต แนะ อากาศร้อน ใจอย่าร้อนตาม จัดการความเครียดให้ได้ ที่สำคัญ อย่าให้ผู้ป่วยจิตขาดยา
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาสุขภาพจิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ ว่า อากาศร้อน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat stroke) ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนดื่มเหล้าจัด คนอ้วน ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานและผู้ที่มีโรคประจำตัวแล้ว อากาศร้อนยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอีกด้วย ที่เห็นได้ชัด คือ จะทำให้หงุดหงิดง่ายขึ้น ส่งผลให้มีความทนทานต่อความเครียดน้อยลง เมื่อมีอะไรมากระตุ้นกับจิตใจก็จะทำให้เครียดง่ายกว่าปกติ และอาจเกิดการตัดสินใจที่ไม่ได้ยั้งคิดต่างๆ ตามมา เกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้ง และเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ผู้ที่มีประวัติการใช้ความรุนแรง จึงต้องให้ความระวังเป็นพิเศษ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า อากาศร้อนไม่มีผลต่อจำนวนการเจ็บป่วยทางจิตที่มากขึ้น เป็นเพียงตัวกระตุ้นหรือเพิ่มความเครียดเดิมที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นมากกว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในช่วงหน้าร้อนยังไม่มีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่มาขอรับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตหรือขอรับบริการปรึกษาผ่านสายด่วน 1323 เนื่องจากอากาศร้อนโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นการขอรับบริการปรึกษาปัญหาความเครียดในเรื่องต่างๆ ซึ่งพบว่า ช่วงอากาศร้อน ระหว่าง ก.พ.-เม.ย. ปีที่แล้ว กับ อากาศร้อนในช่วงนี้ (ก.พ.-เม.ย.57) มีการขอรับบริการปรึกษาปัญหาความเครียดและวิตกกังวล ผ่านสายด่วน 1323 เพิ่มขึ้น มากกว่า 2 เท่าตัว (ปี 56 จำนวน 1,690 ราย ปี 57 จำนวน 3,859 ราย) ส่วนมากเป็นความเครียดที่มาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน และปัญหาความรักเป็นหลัก ซึ่งหากไม่มีวิธีการจัดการกับความเครียดที่ดี เมื่อมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศร้อนย่อมจะเพิ่มความเครียดให้สูงขึ้นได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ป่วยจิตเวช การได้รับยาเป็นประจำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ไม่เกิดอาการกำเริบมากกว่าการมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อนเพียงเท่านั้น คนในครอบครัวจึงต้องสอดส่องดูแล อย่าให้ขาดยา ตลอดจน ให้ผู้ป่วยจิตเวชทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว เกิดความเพลิดเพลิน ที่สำคัญ ต้องไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากจะมีฤทธิ์โดยตรงกับสมอง และมีผลต้านฤทธิ์ยาที่แพทย์รักษา ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบได้ นอกจากนี้ คนในครอบครัว ญาติหรือผู้ดูแลก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักจัดการความเครียดของตนเองให้ดี เนื่องจากมีความเครียดมากกว่าผู้ป่วยอยู่แล้ว ทั้งต้องทำงาน ต้องดูแลผู้ป่วย มีปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าจัดการความเครียดไม่ดี ก็อาจจะไปลงที่ผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะมีความสามารถในการจัดการความเครียดได้น้อยกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่จะเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดูแลทั้งเรื่องยาของผู้ป่วยและก็ต้องดูแลจิตใจตัวเองให้ดีควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ ให้สังเกตสัญญาณเตือนอาการทางจิตกำเริบ คือ นอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าว หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือโทรปรึกษาที่สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับวิธีการรับมือกับปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจที่เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อแนะนำ ดังนี้
ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอต่อวัน รวมทั้ง ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร ทานอาหารที่ทำสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดร้อน หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ
หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนสูง โดยเฉพาะเวลา 11 โมงเช้า – บ่าย 3 โมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน
สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมหมวก/กางร่ม ใช้ครีมกันแดด เมื่อออกสู่ที่แจ้ง เพื่อลดการเผาไหม้ของแสงแดดสู่ผิวหนัง
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากสภาพอากาศในตอนกลางวันจะทำให้เหนื่อยง่าย เสียเหงื่อ และเสียพลังงาน ทำให้ไม่ค่อยสดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง
รู้เท่าทันความเครียดของตนเอง โดยสังเกตได้จาก การเริ่มมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่ค่อยอิ่ม อาการทางจิตใจ เช่น ว้าวุ้น สมาธิไม่ค่อยดี หงุดหงิด สับสน คิดอะไรไม่ออก ถ้ามีอาการเหล่านี้อยู่ แสดงว่ามีความเครียด จำเป็นต้องหาทางจัดการความเครียดให้ได้ เช่น การออกกำลังกาย ทำสมาธิ โยคะ ทำงานอดิเรก ปลูกต้นไม้ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่เพลิดเพลิน เพื่อพักสมองจากความเครียดต่างๆ ยิ่งเครียดมากเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตได้
ฝึกคิดบวก เช่น มองว่า อากาศร้อนทำให้ครอบครัวมีความสุข เนื่องจาก ไม่มีใครอยากออกไปรับสภาพอากาศที่ร้อนนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ทำให้มีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ได้พบปะพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้นกว่าปกติ ฯลฯ
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ร้อนข้างในร่างกาย แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว และจะเพิ่มแรงดันเลือดให้สูงขึ้นกว่าช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นหรือในช่วงที่มีอากาศปกติ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรง อาจทำให้ช็อกหมดสติ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ รวมทั้ง ทำให้ควบคุมสติไม่อยู่และอาจทำให้มีอาการประสาทหลอนตามมาได้
- 324 views