หลังจากขบวนการแรงงานต่อสู้กันมากว่า 15-16 ปี เพื่อให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่กำกับดูแล วางมาตรการ และคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง แต่ท้ายที่สุดทำท่าว่างานนี้จะกลายเป็นการ "เตะหมูเข้าปากหมา" ไปเสียแล้ว
หากย้อนอดีตการต่อสู้ของคนงานเพื่อให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ต้องย้อนไปตั้งแต่ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นมีอุบัติเหตุที่ทำให้คนงานบาดเจ็บล้มตายหลายเหตุการณ์ อาทิ สารเคมีระเบิดที่คลองเตยปี 2534 ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ปี 2536 คนงานตายไป 188 ศพ บาดเจ็บอีก 469 ศพ โรงงานอบลำไยแห้งบริษัทหงษ์ไทยระเบิดปี 2542 คนงานเสียชีวิต 36 คน ฯลฯ ยังไม่รวมทั้งอาการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุจากการทำงานในโรงงานต่างๆเป็นประจำทุกปี
ในปี 2536 นี้เองที่มีการก่อตั้งสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนงานโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงานในโรงงานทอผ้าปั่นด้าย ที่เจ็บป่วยและปอดเสื่อมสมรรถภาพถาวร เพื่อร้องเงินทดแทนจากนายจ้างและกองทุนเงินทดแทน
การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว ขยายวงไปถึงโรคอื่นๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน โดยมีการตั้งต้นแนวคิดว่าการเรียกร้องสิทธิเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการสร้างเสริมความปลอดภัยในสถานประกอบการ ให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากการเจ็บป่วยต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางนโยบาย ให้ออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยสถาบันคุ้มครองสุขภาพคนงานในนามสมัชชาคนจน ยุคที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2540
เส้นทางการผลักดันกฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ต่อสู้ในรายละเอียดตัวบทกฎหมายระหว่างฝ่ายแรงงานและฝ่ายข้าราชการหลายปี จนที่สุดแล้วก็มีการตรา พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ออกมาในปี 2554
กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีการตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานภายใน 1 ปี นับจากวันที่กฎหมายบังคับใช้ ทำหน้าที่ส่งเสริม แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พัฒนาและสนับสนุนการทำมาตรฐานส่งเสริมความปลอดภัย ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยของภาครัฐและเอกชน และอำนาจอื่นตามที่กำหนดในกฎหมาย
ทว่าผ่านมาจนถึงปี 2557 ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ก็ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้
นอกจากนี้ยังกลายเป็นประเด็นที่มีการต่อสู้กันในเรื่องโครงสร้างองค์กรอีก เพราะเดิมทีที่ยกร่างพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย 1.ประธานกรรมการ มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี 2.กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน ประกอบด้วย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อธิบดีกรมควบคุมโรค และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม 3.กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 2 คน และ 4.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 2 คน และให้ผู้อำนวยการสถาบันฯเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง
แต่หลังจากส่งร่าง พ.ร.ฎ.ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว กลายเป็นว่ามีการตัดสัดส่วนกรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างออก เหลือเพียงฝ่ายละ 1 คน แล้วไปเพิ่มสัดส่วนกรรมการฝ่ายข้าราชการแทน
ประเด็นดังกล่าวทำให้ฝ่ายแรงงานซึ่งผลักดันร่างกฎหมายนี้มาโดยตลอดมองว่า การปรับโครงสร้างแบบนี้ สะท้อนว่าภาครัฐยังหวงอำนาจ ไม่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงานโดยตรง การทำงานสไตล์ข้าราชการก็จะเป็นแบบเดิมที่รอให้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึงจะแก้ปัญหา ผิดไปจากเจตนารมณ์ที่ผลักดันกันมา
กลายเป็นว่าการต่อสู้ 15-16 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกิดขึ้นนั้น สูญเปล่า ได้แค่หน่วยงานใหม่ขึ้นมาหน่วยงานเดียว ที่ทำงานไม่ต่างจากหน่วยงานความปลอดภัยอื่นๆที่มีอยู่แล้ว แต่ทำงานไม่ต่างกัน คุณภาพสุขภาพแรงงานก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น
ล่าสุด คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดการประชุมหารือและติดตามความคืบหน้าร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ นักวิชาการและแรงงานร่วมให้ความคิดเห็นเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2557และทุกเสียงต่างเห็นพ้องว่าควรชะลอการนำร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้เสนอคณะรัฐมนตรี ออกไปก่อน
เบื้องต้น จุฑาพนิต บุญดีกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อธิบายว่า ร่างพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน และหลายๆเรื่องได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการประชุมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในส่วนของภาคเอกชนเห็นด้วยกับการตั้งเป็นองค์การมหาชน และไม่อยากมองว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้ง เพราะสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นนี้ เป็นองค์การมหาชน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 2554 ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน ภาครัฐจึงเห็นว่าสถาบันนี้จะทำให้ภาครัฐทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ สุนี ไชยรส รองประธาน คปก. กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าหากผลักดันร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ อาจไม่เป็นผลดีเนื่องจากเห็นชัดว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงแรงงานจึงควรชะลอร่างฯดังกล่าวไว้ และเพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอีกครั้ง โดยคปก.พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ร่างฯดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“ต้องทบทวนให้ดีทั้งในเรื่องความเป็นมาและสาระสำคัญ การมีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามีเพื่ออะไร ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปเพื่อช่วยงานของกรมฯเท่านั้น กระทรวงแรงงานควรจะนำเรื่องนี้ไปทบทวนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”สุนี กล่าว
เช่นเดียวกับ สมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคราชการยังหวงอำนาจเอาไว้ สะท้อนจากตัวแทนแรงงานมีสัดส่วนอยู่ในคณะกรรมการเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น การรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ก็ไม่รับฟังความเห็นใครก็ไม่รู้ แต่ไม่ได้ฟังความเห็นคนที่ได้รับผลกระทบหรือผลักดันเรื่องนี้โดยตรง
“รู้สึกผิดหวังมากกับกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ได้ทำตามความต้องการของภาคประชาชนอย่างแท้จริง จึงอยากให้ชะลอร่างฯนี้ออกไปก่อน และจัดรับฟังความและข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมให้รอบด้าน”
ไม่ต่างจาก ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ต้องการให้ยับยั้งร่างฯดังกล่าวไว้ก่อน และประกาศว่าหากทำโครงสร้างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯออกมาในลักษณะนี้ เขาก็ไม่เอาด้วยแน่
“หากมีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯเกิดขึ้นจริง จะต้องมีการทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่รอให้เหตุเกิดแล้วถึงเข้าไปตรวจสอบ ดูอย่างคณะกรรมการความปลอดภัยตามบริษัทต่างๆทุกวันนี้ ถามว่ามีใครไปตรวจสอบจริงไหม รายงานที่ส่งเข้ามาก็ Make ขึ้นทั้งนั้น”ชาลี กล่าว
ชาลี มองว่า แทนที่จะต้องให้สัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของลูกจ้างเพิ่มขึ้นโดยมีตัวแทนภาครัฐช่วยสนับสนุนการดำเนินการของลูกจ้างและนายจ้าง แต่กลับไปเพิ่มสัดส่วนกรรมการจากฝ่ายราชการ ไม่ต่างจากเตะหมูเข้าปากหมา ผลักดันกันมานับสิบปี แต่สุดท้ายก็กลายเป็นหน่วยงานที่ทำงานแบบราชการเพิ่มขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น จึงอยากให้ระงับเอาไว้ก่อน แล้วไปปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทการทำงานให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น
ขณะที่ พรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า ภาคราชการต้องการให้สถาบันนี้เป็นเพียงสถาบันส่งเสริมความรู้ และเป็นเรื่องของหน่วยราชการเท่านั้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้งทางความคิดระหว่างภาคราชการกับภาคแรงงาน และนอกจากจะเป็นความขัดแย้งทางความคิดแล้วยังไม่นำไปสู่ความคืบหน้าใดๆทั้งสิ้น ซึ่งคาดว่ากระทรวงแรงงานคงจะต่อสู้จนถึงที่สุด ภาคประชาสังคมเองก็คงต้องต่อสู้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงฐานคิดนี้เช่นกัน ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เห็นว่าจะมีข้อยุติได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น
ด้าน โกวิทย์ บุรพธานินทร์ นักวิชาการด้านแรงงานและกรรมการมูลนิธิคม จันทรวิทุร ตั้งข้อสังเกตว่าหากพิจารณาในส่วนของโครงสร้างพบว่า หัวใจของความปลอดภัยอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแต่เหตุใดจึงมีภาคราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ สำคัญที่สุดคือควรเน้นในเรื่องการป้องกันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ที่น่าเศร้าเพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงการป้องกัน ไม่ได้พูดถึงความร่วมมือระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ไม่ได้เอาผู้มีส่วนได้เสียทั้งนายจ้างกับลูกจ้างเข้ามา จึงประสบความล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ แม้ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....จะอยู่ในขั้นตอนรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ฝ่ายแรงงานเชื่อว่ารัฐมนตรีแรงงาน ซึ่งอยู่ในภาวะรักษาการในขณะนี้ยังไม่น่าจะตัดสินใจดำเนินการใดๆ
จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะแสดงความเห็นท้วงติงและให้ยับยั้งร่างฯเอาไว้ก่อน ขณะที่ คปก.เองก็จะจัดทำความคิดเห็นเพื่อท้วงติงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกทางหนึ่งด้วย
- 45 views