เดลินิวส์ - สนับสนุนให้แม่ได้ดูแลอีกหนึ่งชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงรักษาคุณภาพชีวิตของคุณแม่ในระยะยาว ในช่วงให้นมลูกน้อย คุณแม่ต้องรีบปรับการบริโภคอาหารเพื่อภาระหน้าที่ความเป็นแม่ที่สำคัญ รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล ประจำกลุ่มวิชาโภชนาการ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า แม่รุ่นใหม่ทราบดีว่านมแม่คืออาหารดีที่สุดสำหรับลูก ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงและนานขึ้น แต่แม่ชาวไทยกลับไม่ทราบว่ากำลังเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารบางชนิดในระยะให้นมบุตรเพียงร้อยละ 30 ของความต้องการของร่างกายเท่านั้น เพราะระยะให้นมบุตรร่างกายต้องการสารอาหารบางอย่างในปริมาณที่มากกว่าช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ เพราะต้องใช้สารอาหารสำหรับตัวเองและผลิตน้ำนมให้ลูก
ผลสำรวจการบริโภคอาหารของหญิงให้นมลูก โดยกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวแม่มีความเสี่ยงขาดสารอาหาร เช่น แคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซี เกือบร้อยละ 70 ของปริมาณที่ควรได้รับ และควรได้รับสารอาหาร ได้แก่ เหล็ก วิตามินบี 1 และ วิตามินบี 2 เพิ่มอีกเท่าตัว ไม่เช่นนั้นจะบั่นทอนสุขภาพแม่ และกระทบต่อศักยภาพในการเลี้ยงดูลูก การขาดสารอาหารบอกไม่ได้จากรูปร่าง แม่จำนวนมากขาดสารอาหารทั้งที่มีรูปร่างสมส่วนและกินอิ่มทุกมื้อ เพราะอาจได้พลังงานเพียงพอแต่ได้รับสารอาหารบางอย่างน้อยเกินไป สัญญาณเตือนที่จะรู้สึกได้คือ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นตะคริว เจ็บลิ้น ผิวหนังแห้งเป็นสะเก็ด ปรับการมองเห็นในที่มืดได้ช้า เป็นเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว ปากนกกระจอก เลือดออกตามไรฟัน แผลหายช้า เบื่ออาหาร และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่มองไม่เห็น เช่น โลหิตจาง และกระดูกพรุนในอนาคต
รศ.ดร.ประไพศรี แนะนำว่า แม่ให้นมบุตรควรได้รับวิตามินเอมากกว่าปกติร้อยละ 60 ด้วยการกินไข่วันละ 1 ฟอง ตับสัปดาห์ละ 1-2 ช้อนกินข้าว มะละกอสุก 200 กรัมต่อวัน ผักใบเขียวและแคลเซียมควรได้รับอย่างน้อย 800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปกติได้รับอยู่เพียงร้อยละ 30 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวันเท่านั้น จึงควรเสริมด้วยการดื่มนมจืดทั่ว ๆ ไปวันละ 2 แก้ว หรือพิจารณานมสูตรเฉพาะหรือแคลเซียมเม็ด จึงจะได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของทั้งแม่และลูก สำหรับแม่ในระยะตั้งครรภ์ยังพบปัญหาแม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอเช่นกัน แม้ว่าแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับโภชนาการดีกว่าระยะให้นมบุตร แต่จากผลการสำรวจการบริโภคอาหารของหญิงตั้งครรภ์โดยกระทรวงสาธารณสุขยังพบว่า มีความเสี่ยงได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินเอ ซึ่งควรได้รับเพิ่มอีกอย่างน้อยประมาณเท่าตัว.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 1361 views