คมชัดลึก - นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ทรายอะเบทที่ใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย เป็น การนำสารเทมีฟอสมาเคลือบกับทราย แต่ทรายอะเบทมีกลิ่นเหม็น และเมื่อใส่ลงไปในน้ำทำให้น้ำขุ่น ประชาชนจึงไม่นิยมใช้ทรายอะเบทในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทีมวิจัยของกรมจึงร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และภาคเอกชน คิดค้นหาทรายตัวอื่นมาใช้แทน จนพบว่าทรายภูเขาไฟ หรือซีโอไลท์ ซึ่งมีรูพรุน เมื่อนำเทมีฟอสมาเคลือบแล้วกลับไม่มีกลิ่น และทำให้ น้ำใส เนื่องจากเทมีฟอสจะแทรกเข้าไปอยู่ตามรูพรุน ของทรายภูเขาไฟ ที่สำคัญยังมีระยะเวลาและประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายนานกว่าทรายอะเบทด้วย คือประมาณ 3-6 เดือน โดยไม่ต้องเติมทรายลงไปใหม่ เพราะรูพรุนของทรายภูเขาไฟจะช่วยชะลอการละลายตัวของเทมีฟอส
"อุณหภูมิจะมีผลต่อการละลายตัวของเทมีฟอส หากร้อนมากก็จะละลายเร็วประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายจะอยู่ที่ต่ำสุดประมาณ 3 เดือน หากอากาศไม่ร้อนมากประสิทธิภาพจะสูงสุดถึง 6 เดือน ส่งผลให้ทรายภูเขาไฟเคลือบเทมีฟอส กรมจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาและนำทรายภูเขาไฟมาใช้เป็นอีกทางเลือกในการกำจัดลูกน้ำยุงลายแทนทรายอะเบท ซึ่งบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ก็ซื้อทรายภูเขาไฟไปใช้แล้ว สำหรับในไทยคาดว่าอีก 2-3เดือนน่าจะมีวางขายในตลาด" นพ.อภิชัย กล่าว
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับทรายภูเขาไฟจะใช้ในอุตสาหกรรมความสะอาดดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงหาได้ไม่ยาก แม้ประเทศไทยจะไม่มีภูเขาไฟก็ตาม ทั้งนี้ ด้วยคุณลักษณะของทรายภูเขาไฟเมื่อเคลือบเทมีฟอส ทำให้ไม่มีกลิ่น น้ำใส สามารถดื่มได้ ระยะเวลากำจัดยุงลายยังนานกว่าทรายอะเบททั่วไป แม้จะแพงกว่าทรายธรรมดาเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกันแล้วมีคุณค่ากว่าทรายอะเบท น่าจะสามารถตอบโจทย์และดึงความสนใจให้ประชาชนหันมาใช้ได้มากกว่า แต่ที่น่าห่วงคือคนไทยมักติดนิสัยว่า การกำจัดลูกน้ำยุงลายเป็นหน้าที่ของรัฐจึงไม่คิดดำเนินการด้วยตัวเอง แม้ได้รับแจกทรายอะเบทก็ไม่นิยมใช้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงจะมีการผลิตทรายภูเขาไฟเคลือบเทมีฟอสบางส่วน แต่คงจะไม่นำมาแจกจ่ายทั้งประเทศ จะแจกจ่ายเฉพาะบางส่วนและบางงานเท่านั้น เพราะอาจทำให้ประชาชนไม่เห็นคุณค่า ส่วนที่เหลืออาจขายสิทธิบัตรให้เอกชน แต่จะต้องมีการควบคุมและตกลงราคาของสินค้าว่าต้องไม่แพงเกินไป เฉลี่ยอยู่ที่ซองละ 15-20 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 22 เมษยน 2557
- 168 views