สปสช. จับมือ กรมควบคุมโรค และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข เตรียมเดินหน้าโครงการ Task shifting เพื่อศึกษารูปแบบการขยายระบบดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จาก รพช.สู่หน่วยบริการปฐมภูมิ ตามแนวทางองค์การอนามัยโลก หวังให้เกิดการดูแลติดตามผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์อย่างมีคุณภาพเช่นเดียวกับเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง ซ้ำลดภาระงานและความแออัดในโรงพยาบาล
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบบริการเข้าถึงยาต้านไวรัสในสถานบริการของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อยู่ในระบบกว่า 250,000 ราย โดยกระจายรับบริการในโรงพยาบาลกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ราว 50 แห่ง มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในความดูแลมากกว่า 1,000 ราย บางแห่งเป็นเพียงแค่โรงพยาบาลชุมชน ที่มีข้อจำกัดทั้งจำนวนบุคลากรและจำนวนผู้ป่วยทั่วไปที่มารับบริการแต่ละวันค่อนข้างมาก ส่งผลต่อการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ทำให้แนวโน้นการขาดนัดรักษาของผู้ป่วยค่อนข้างสูง ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่าจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น หากไม่มีระบบบริการที่ครอบคลุมและมีคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มากพอ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางองค์การอนามัยโลกจึงมีแนวคิดการมีส่วนร่วมจัดบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (Task shifting) เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการกระจายงานบางประเภทไปยังสถานบริการระดับปฐมภูมิ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่น อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัดเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลช่วยกันดูแลผู้ติดเชื้อที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ เพื่อลดภาระการเดินทางของผู้ติดเชื้อที่ต้องมารับยาอย่างต่อเนื่อง
นพ.สรกิจ ภาคีชีพ ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนระบบบริการเอดส์ สำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ทางสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (สอวพ.) กรมควบคุมโรค ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงแนวคิดร่วมกันจัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบระบบการส่งต่องาน การดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จากโรงพยาบาลสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ และหน่วยเครือข่ายบริการปฐมภูมิ” ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง โดยมีโรงพยาบาลชุมชนเป็นแม่ข่าย มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนารูปแบบระบบการส่งต่องานดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จากโรงพยาบาลสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ และหน่วยบริหารเครือข่ายปฐมภูมิ เกิดกระบวนการเรียนรู้ ศึกษาปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดการดำเนินงาน เพื่อนำไปพัฒนาหรือข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบการขยายบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ต่อไป
นพ.สรกิจ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2559 โดย สปสช.สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการในวงเงิน 5 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงาน ทั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์มากว่า 1,000 ราย และหน่วยปฐมภูมิที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีการดำเนินการทั้งการฝึกอบรมบุคลากรในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การให้คำปรึกษา การจ่ายยาต้านไวรัส การติดตามผลข้างเคียง การส่งเสริมกินยาต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมชุมชน และการจัดระบบส่งยาต้านไวรัสไปยังหน่วยปฐมภูมิ
“ด้วยระบบบริการปฐมภูมิของประเทศไทยได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในการปรับกระบวนทัศน์ของการทำงาน ที่จากเดิมผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ ซึ่งสามารถบริการได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้ป่วยเชิงรุก รวมถึงการส่งเสริมดูแลสุขภาพ ด้วยการสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่ข่าย ทำให้เกิดการกระจายงานสู่หน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี รพ.สต. 9,771 แห่ง และศูนย์สุขภาพชุมชนของโรงพยาบาล (ศสช.) อีก 319 แห่ง หากโครงการนำร่องได้ผลดีและมีการขยายออกไป จะส่งผลดีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และระบบสุขภาพของประเทศ” นพ.สรกิจ กล่าว
- 1 view