กรมวิทย์ตรวจอาหารสถานีขนส่งผู้โดยสารพบเชื้อก่อโรค 32.8% ระบุลดลงจากช่วงเทศกาลปีใหม่ 26% ฟุ้งให้ความรู้ผู้จำหน่ายอาหารและการเฝ้าระวังที่ผ่านมาได้ผล
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนไทยที่ทำงานต่างถิ่นมักจะเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อฉลองปีใหม่และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำให้บริเวณสถานีรถไฟและรถทัวร์มีผู้คนเป็นจำนวนมาก หากผู้จำหน่ายอาหารบริเวณดังกล่าวจัดเตรียมอาหารได้ไม่ดี ก็มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหารได้ กรมวิทย์จึงสุ่มตรวจความปลอดภัยของอาหาร เครื่องดื่ม และน้ำแข็งที่จำหน่ายในสถานีขนส่งผู้โดยสารใน กทม. ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 3-11 มี.ค. 2557 ร่วมกับสำนักงานเขต กทม. 4 แห่ง คือ ปทุมวัน คลองเตย จตุจักร และตลิ่งชัน ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งเอกมัย หมอชิต และสายใต้ใหม่ รวมทั้งทดสอบความสะอาดของภาชนะสัมผัสอาหารและมือของผู้ปรุง หรือสัมผัสอาหารด้วย และส่งตัวอย่างตรวจที่ห้องปฏิบัติการของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.อภิชัย กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างอาหาร รวมทั้งหมด 256 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านเกณฑ์ฯ 84 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 32.8 โดยพบเชื้ออี.โคไล 47 ตัวอย่าง ร้อยละ 18.3 และพบเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร 31 ตัวอย่าง ร้อยละ 12.1 ในอาหารพร้อมบริโภค ยำต่างๆ เครื่องดื่ม น้ำแข็ง และพบเชื้อปนเปื้อนในภาชนะสำหรับใส่อาหารและมือของผู้ปรุงอาหารด้วย จากปัญหาที่พบนี้ ในช่วงต้น เม.ย. 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมมือกับสำนักงานเขต กทม. ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอาหารในร้านจำหน่ายอาหารในสถานีขนส่งทั้ง 4 แห่ง โดยให้ความรู้และคำแนะนำด้านสุขอนามัยที่ดีและแจ้งสาเหตุการปนเปื้อนเชื้อโรคแก่ผู้ปรุงและผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในสถานีขนส่ง เพื่อให้มีการปรับปรุงและรักษาคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่มให้ดีต่อไป
“เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจอาหารของทั้ง 4 สถานี เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่าการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารพร้อมบริโภคที่ทำให้ตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ ลดลงถึงร้อยละ 26 แสดงว่าผู้จำหน่ายอาหารในสถานีขนส่งที่ได้รับความรู้และคำแนะนำมีการแก้ไขปรับปรุงด้านสุขลักษณะการเตรียมและจำหน่ายอาหาร ซึ่งกรมวิทย์จะเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่ายในสถานีขนส่งต่อไปเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวและว่า ขอเตือนประชาชนที่เดินทางให้เลือกซื้ออาหารที่ปรุงสุกทั่วถึง ดูสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารประเภทยำหรือไม่ผ่านความร้อน เลือกร้านที่ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดมีฝาปิด และอย่าลืมล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทาน ถ้ามีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นไข้ ให้รักษาอาการเบื้องต้นโดยดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือโออาร์เอสเป็นระยะ เพื่อทดแทนสภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น หลังจากดื่มแล้ว 8-12 ชั่วโมง ให้พบแพทย์หรือนำส่งโรงพยาบาลทันที
- 20 views