ไทยโพสต์ - สาธารณสุข * กรมควบคุมโรคเผยผลสำรวจคนชนบทท้องร่วง อาหารเป็นพิษสูงกว่าคนเมืองถึง 2 เท่าตัว เหตุกินอาหารสุกๆ ดิบๆ แถมไม่ล้างมือก่อนปรุง สูงสุดคือ ภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี เร่งปรับแผนรณรงค์
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการสำรวจดีดีซีโพล ครั้งที่ 4 ของกรมควบคุมโรค เกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพจากการท่องเที่ยว : โรคอาหารเป็นพิษ ในประชาชน 3,112 คน จาก 25 จังหวัด เพื่อวัดทัศนคติของประชาชนต่อโรคที่มากับฤดูร้อน หาจุดอ่อนเพื่อปรับการรณรงค์ให้ตรงจุดยิ่งขึ้น หลังจากพบว่าในช่วงฤดูร้อนของทุกปีมีประชาชนป่วยด้วยโรคที่มาจากฤดูร้อน โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง ที่มีผู้ป่วยปีละกว่าล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละกว่าแสนคน ทั้งนี้ จากการสำรวจพบกลุ่มประชาชนวัยรุ่นอายุ 15-30 ปี ในชนบทกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงมากที่สุด มากกว่ากลุ่มอายุอื่นและคนในเมืองถึง 2 เท่า เนื่องจากในชนบทยังกินอาหารสุกๆ ดิบๆ สูง 61.8% เพราะเชื่อว่ากินแล้วมีแรง ขณะที่คนในเมืองกินอาหาร สุกๆ ดิบๆ แค่ 38.2% นอกจากนี้ยังพบว่าในชนบทไม่ล้างมือก่อนปรุงอาหาร 66.2% สังคมเมืองไม่ล้างมือก่อนปรุงอาหาร 33.8% จากข้อมูลที่ได้สะท้อนถึงการรณรงค์ที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังเข้าถึงสังคมชนบทได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องปรับแผนการรณรงค์ใหม่เน้นให้พื้นที่ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2557 พบผู้ป่วยแล้ว 31,627 คน คิดเป็นอัตราป่วย 49.79 ต่อแสนประชากร โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยสูงสุด รองลงมาคือพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ จ.อุดรธานี ตามมาด้วย จ.หนองบัวลำพู อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และตราด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 10 เมษายยน 2557
- 517 views