กรมควบคุมโรคเผยแค่ 3 เดือน คนไทยป่วยอาหารเป็นพิษแล้ว 3.1 หมื่นราย สำรวจพบออกนอกบ้านประชาชนกลัวโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษมากที่สุด แนะ 7 วิธีป้องกันตัวเองเวลากินข้าวนอกบ้านให้ปลอดภัยจากโรค
วันนี้ (9 เม.ย.) ที่กรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว ดีดีซีโพล ครั้งที่ 4 เรื่อง “โรคและภัยสุขภาพจากการท่องเที่ยว: โรคอาหารเป็นพิษ” ว่าจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ โดยสำนักระบาดวิทยา คร. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. พบผู้ป่วยจำนวน 31,627 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 49.79 ต่อแสนประชากร สูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุดรธานี หนองบัวลำภู อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และตราด โดยโรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษที่เชื้อโรคสร้างเข้าไป ซึ่งการปนเปื้อนอาจเกิดตั้งแต่แหล่งผลิตอาหาร แหล่งปรุง เสิร์ฟอาหาร หรือแม้กระทั่งปนเปื้อนขณะกิน อาการที่พบคือ ถ่ายเหลว ร่วมกับปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว และปวดข้อ เป็นต้น
“โรคอาหารเป็นพิษมักป่วยไม่รุนแรง ยกเว้นกรณีได้รับเชื้อชนิดรุนแรง ในรายที่เสียน้ำและเกลือแร่มาก ในกรณีเด็กหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น โรคนี้รักษาได้ตามอาการ เช่น การทดแทนด้วยน้ำและเกลือแร่ ด้วยสารละลายเกลือแร่ และน้ำตาลทางปาก” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3,112 ตัวอย่าง พบว่าโรคเกี่ยวกับอาหารและน้ำในช่วงหน้าร้อนที่อยากให้ คร. ดำเนินการมากที่สุดคือ โรคอุจจาระร่วง ร้อยละ 53.8 รองลงมาคือ โรคอาหารเป็นพิษในนักเรียน ร้อยละ 23.3 และโรคอหิวาตกโรค ร้อยละ 11.2 ส่วนโรคที่น่ากลัวที่สุดขณะเดินทางคือ โรคอุจจาระร่วง/อาหารเป็นพิษ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างในสังคมชนบท เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษไม่สามารถทำน้ำเกลือแร่ร้อยละ 59.1 ไม่แน่ใจทำน้ำเกลือแร่เพื่อรักษาตัวเองเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง ร้อยละ 57.5 ทั้งนี้ ร้อยละ 75.7 คิดว่าน้ำแข็งที่แบ่งขายตามท้องตลาด ร้านอาหารไม่สะอาด สำหรับการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาร้าดิบ ก้อยดิบ ลาบดิบ พบว่ากินเป็นประจำ 5-7 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 61.8 ที่สำคัญไม่เคยล้างมือก่อนการเตรียมและปรุงอาหาร มากกว่าเป็น 2 เท่าของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเมือง
นพ.โสภณกล่าวว่า วิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ต้องป้องกันสาเหตุคือ การป้องกันการติดเชื้อทางอาหาร น้ำดื่ม และทางมือ ทั้งนี้เมื่อต้องเดินทางสามารถป้องกันได้โดย 1. ถ้าเตรียมอาหารไปจากบ้าน ไม่ควรเตรียมอาหารที่บูดเสียง่าย เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท ไม่เก็บในที่ร้อนเกินไปและนานเกินไป ควรทำให้ร้อนก่อนกิน 2. กรณีใช้อาหารกระป๋องสำเร็จรูป เลือกยี่ห้อและร้านค้าที่เชื่อถือได้ ฉลากอยู่ครบ มีวันหมดอายุชัดเจน กระป๋องไม่มีรอยบุบ หรือโป่ง 3. เมื่อกินอาหารตามร้าน ควรเลือกร้านที่ได้รับการรับรอง เลือกกินอาหารปรุงสุก ใช้วัตถุดิบสด จัดเก็บได้ถูกต้อง ไม่มีแมลงวันตอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผักสด
นพ.โสภณกล่าวว่า 4. เลือกซื้ออาหารที่ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิประกอบ ส่วนยำ ลาบ ต้องปรุงให้สุก 5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่คุ้นเคย 6. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนเตรียมอาหารและกินอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ 7. ดื่มน้ำสะอาด ถ้าต้องดื่มน้ำนอกบ้าน เลือกดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ที่มีตรา อย. และถ้าจำเป็นต้องดื่มน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรนำมาต้มให้เดือดก่อน
- 105 views