ในวันอนามัยโลกประจำปี 2557 นี้ องค์การอนามัยโลก รณรงค์ให้ทุกประเทศเร่งควบคุมป้องกันโรคจากแมลง ยุง พบว่าก่อโรคในคนได้มากถึง 12 โรค อาทิ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ทำให้ชาวโลกป่วยปีละกว่า 2,500 ล้านราย เสียชีวิตปีละกว่า 1 ล้านราย ส่วนไทยพบยุงก่อโรค 5 โรค เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ในปี 2556 รวมกว่าแสนราย เสียชีวิต 159 ราย มากที่สุดคือไข้เลือดออกจำนวนผู้ป่วยกว่า 1 แสนราย ชี้ปีนี้หากประชาชนไม่ช่วยกันกำจัดยุง คาดจะมีผู้ป่วย 80,000-100,000 ราย
วันนี้ (8 เมษายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์โยนาส เทจน์ (Dr.Yonas Tegegn) ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวและเปิดงานนิทรรศการวันอนามัยโลก (World Health Day 2014) เนื่องในวันอนามัยโลก ประจำปี 2557 ปีนี้ เน้นเรื่อง “แมลงพาหะนำโรค : Vector-borne disease” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเร่งป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ด้วยตนเอง ด้วยวิธีง่ายๆสอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อลดอัตราป่วยและการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
นายแพทย์ทรงยศ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 7 เมษายนทุกปี เป็นวันอนามัยโลก เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนทั่วโลก หันมาใส่ใจต่อสุขภาพ โดยในปี 2557 นี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับโรคติดต่อที่เกิดจากแมลง ประกอบด้วย ยุง ริ้นทรายฝอย และเห็บ กัดปล่อยเชื้อทั้งแบคทีเรีย ไวรัสและพาราสิตต่างๆ เข้าสู่คน ก่อให้เกิดโรคได้มากถึง 12 โรค อาทิ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา เท้าช้าง มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้ลิซมาเนีย ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น เป็นสาเหตุการป่วยถึงร้อยละ 17 ของโรคติดเชื้อทั้งหมด สร้างปัญหาให้คนทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจากถูกแมลง 3 ชนิดนี้กัดมากกว่า 2,500 ล้านคน ในกว่า 100 ประเทศ เสียชีวิต 1 ล้านกว่าคน ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชากรอายุเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสั้นลง
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “ยุง : ภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ” (Small bite, Big threat) โดยยุงเป็นตัวก่อโรค ให้คนไทยป่วยที่รู้จักอย่างน้อย 5 โรคได้แก่ โรคไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา โรคเท้าช้าง และไข้มาลาเรีย ในปี 2556 พบรวมกัน 170,051 ราย เสียชีวิต 159 ราย ปัญหาอันดับ 1 คือไข้เลือดออกเกิดจากยุงลาย ซึ่งเป็นปีที่ระบาดหนักที่สุดในรอบ 20 ปี มีผู้ป่วยสะสมถึง 153,765 ราย มากกว่าปี 2555 ถึง 2 เท่าตัว เสียชีวิต 132 ราย รองลงมาคือโรคมาลาเรียเกิดจากยุงก้นปล่อง พบผู้ป่วย 14,741 ราย เสียชีวิต 6 ราย โรคไข้สมองอักเสบเกิดจากยุงรำคาญ ป่วย 716 ราย เสียชีวิต 17 ราย
นายแพทย์ทรงยศ กล่าวต่อว่า มาตรการสำคัญในการลดป่วยจากโรคที่เกิดจากยุง ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข เน้นหนักให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง รณรงค์ความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งให้ผลดีที่สุด คือการรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดแหล่งน้ำเสีย ลดปริมาณขยะ จัดบ้านพักให้โล่ง โปร่ง สบาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน นอนในมุ้ง ใช้ยาทากันยุง ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากป่วยจะได้รับการรักษาทันเวลา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยแมลงในภูมิภาคอาเซียนในปี 2557 นี้ พบโรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดมากในประเทศมาเลเซีย มีผู้ป่วย 16,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2556 ถึง 4 เท่าตัว สำหรับไทยในรอบ 3 เดือนปีนี้ มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 3,790 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันร้อยละ 74 เสียชีวิต 3 ราย คาดการณ์ว่าถ้าควบคุมโรคไม่ดี โดยเฉพาะประชาชนหากไม่ให้ความร่วมมือกำจัดยุงลาย จะพบผู้ป่วยได้มากถึง 80,000-100,000 ราย
ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา พบมากในประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทยพบปีนี้ 5 ราย ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต จันทบุรี และฉะเชิงเทรา สำหรับโรคมาลาเรีย ส่วนใหญ่พบบริเวณชายแดนไทย-พม่า แนวโน้มลดลงทั้งคนไทยและต่างชาติ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วโดยคนไทยลดลง ร้อยละ 45 ต่างชาติลดลง ร้อยละ 61 แต่ยังพบเชื้อดื้อยาในบางพื้นที่ เช่นที่แม่สอด จ.ตาก และจันทบุรี ต้องเร่งควบคุมป้องกันโดยเฉพาะชายแดนที่มีแรงงานหมุนเวียนเข้า-ออกต่อเนื่อง ทั้งการตรวจคัดกรองและติดตามต่อเนื่อง
สำหรับการจัดกิจกรรมในวันอนามัยโลก ปี 2557 นี้ ประกอบด้วย การจัดบูธนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อนำโดยแมลงและการป้องกัน อาทิ ผลิตภัณฑ์นาโนป้องกันยุง สมุนไพรป้องกันยุง ชุดตรวจโรคเท้าช้าง ซุ้มสาธิต นอนกางมุ้ง กิจกรรมส่งเสริมความรู้ ประกอบด้วย เกมส์ตอบปัญหาชิงรางวัล การแจกสื่อความรู้ ปลากินลูกน้ำ ทรายกำจัดลูกน้ำ ยาทากันยุง เป็นต้น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยี องค์การเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน สถาบันคีนันแห่งเอเชีย มูลนิธิรักษ์ไทย และภาคเอกชนต่างๆ
- 69 views