กรุงเทพธุรกิจ - สองสัปดาห์แล้วที่ควันไฟจากบ่อขยะแพรกษา ซอย 8 ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ดับลงไป จนผู้คนในชุมชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทว่าวันนี้ชุดดับเพลิงจากองค์การ บริหารส่วนตำบลแพรกษานับ 10 ชีวิต ยังต้องประจำการอยู่รอบบ่อขยะตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดิม แม้เปลวไฟที่ไหม้บ่อขยะเนื้อที่กว่า 150 ไร่จะถูกเผาไปเกือบหมดแล้ว แต่รอยไฟ ที่คุจากข้างใต้บ่อขยะก็ยังคงมีอยู่ นับแต่เกิดเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา ไม่เพียงเกิดมลพิษทางอากาศจากควันไฟ ที่กินรัศมีไกลถึง 10 กิโลเมตรข้ามเขตมาถึง 6 พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จนส่งผลกระทบ โดยตรงต่อผู้คนที่ต้องอพยพหนีตาย ออกจากบ้าน แต่สารมลพิษปนเปื้อนยังตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ ตลอดห่วงโซ่อาหาร จนทำให้หลายหน่วยงานด้าน สิ่งแวดล้อม ต้องเข้ามาติดตามผลต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับผลกระทบทางด้านสุขภาพระยะยาวของชาวบ้านในรัศมี 2 กิโลเมตร ตลอดจนนักผจญเพลิง และเจ้าหน้าที่ ที่เข้าปฏิบัติภารกิจดับไฟกองขยะ ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ได้วางมาตรการเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงที่ต้องขึ้นทะเบียนให้มาเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อติดตามผลทางสุขภาพระยะยาวออกเป็น 3 กลุ่ม
กล่าวคือกลุ่มนักผจญเพลิง ผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจากส่วนต่างๆ และชุมชนรอบปากบ่อขยะ ที่คาดว่า จะมีไม่ต่ำกว่า 500 ราย ส่วนกลุ่มต่อมาคือชาวบ้านในรัศมี 200-500 เมตร และกลุ่มสุดท้ายตั้งแต่รัศมี 500 เมตรขึ้นไป ซึ่งได้ประเมินภาพรวมว่าอาจมีตัวเลขกว่า 3,500 รายที่เข้าข่าย เฝ้าระวัง
โดยเฉพาะกลุ่ม "นักผจญเพลิง" ราว 200 ชีวิตที่ถือว่าอยู่ในลำดับแรกที่มีโอกาส รับการปนเปื้อนของสารมลพิษสูง จนเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ทำให้ต้องเฝ้าระวังสุขภาพระยะยาว และต้องถูกตรวจหาสารโลหะหนัก อีก 4 ตัวเพิ่มเติมจากกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม แมงกานีส รวมทั้ง เบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะ บุหรี่ และสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ในระยะยาวได้
" ผมทำงานดับเพลิงมา 13 ปี ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้รุนแรงมาก เพราะ ไฟลุกลามหนักจนถึงขั้นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ขนน้ำมาช่วยดับไฟ และยังเป็นงานเสี่ยงที่สุดด้วย เนื่องจากบ่อขยะลึกมากเป็น 100 เมตร ถ้าพลาดก็มีโอกาสจมหาย ไปกับบ่อขยะโดยที่ไม่มีใครเจอแน่ๆ"
ประสูติ แพรทองสุข นักดับเพลิงวัย 41ปี เริ่มต้นพร้อมชี้ให้ดูไฟที่เริ่มคุขึ้นมาอีกครั้งตรงใจกลางบ่อขยะ เขาเป็นหนึ่งในนักผจญเพลิง อีกราว 200 ชีวิตจากพื้นที่อื่นๆ รวมทั้ง ทหารราบจากฉะเชิงเทราที่เข้าปฏิบัติภารกิจ ดับไฟบ่อขยะแพรกษาตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ 16 มี.ค. แม้ตอนนี้ไฟและควันจะดับเกือบสนิทแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน และข้างใต้กองขยะ ยังมีเชื้อเพลิงที่สามารถคุขึ้นมาได้อีก
วันนี้ทีมดับเพลิงจาก อบต.แพรกษา ยังต้องหมุนเวียนกันเข้าประจำการบริเวณ บ่อขยะ ตลอดทั้งวันทั้งคืนเช่นเดิม ใบหน้าที่กรำแดด และดวงตาสีแดง เพราะการอดนอน ถือเป็นร่องรอยที่ฟ้องว่าร่างกายได้ ทำงาน อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
"ผมต้องทำหน้างานที่รับผิดชอบ ปิดงานให้ 100 เปอร์เซ็นต์ก่อน เพราะ ควันมันเข้าไปในชุมชนรุนแรงมาก จน พวกเขาอยู่บ้านกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง นักผจญเพลิงจากหลายพื้นที่ จึงถูกระดม กันมาที่ทุกคนต้องทำงานกันแบบมาราธอน แข่งกับเวลาทุกนาที เรียกว่าดับไฟกันทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้พัก กินนอนกันบนหลังคา รถดับเพลิง แต่กระนั้นก็ยังต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าที่ควันไฟจะมอดลงจนเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ในตอนนี้" ประสูติ บอก ไม่เพียง ประสูติ และนักดับเพลิงอีกหลายรายที่กังวลใจถึงผลกระทบทางสุขภาพระยะยาว แต่ครอบครัวของ กาญจนา สามารถชาวบ้านจากหมู่บ้านสวัสดี ในซอยแพรกษา 8 จ.สมุทรปราการ ก็พา ด.ญ.สุปวี ลูกสาววัย 8 ขวบเข้ารับบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับโรงพยาบาลบางพลี ที่เปิดให้บริการภายในองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา เมื่อสัปดาห์ก่อน รวมทั้งชาวบ้านจากชุมชน แพรกษา หมู่บ้านธัญยพร หมู่บ้านศุภาลัย ร่วม 300 รายที่อยู่ในรัศมีควันไฟ 200-500 เมตร ต่างหอบลูกจูงหลาน และผู้สูงอายุมาขึ้นทะเบียน เฝ้าระวังผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วย
กาญจนา ยอมรับว่า การรับควันไฟจากบ่อขยะ ในระยะยาว ครอบครัวเธออาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายอย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่ใช่แค่กลิ่นควันไฟแต่ยังหมายถึงกลิ่นเน่าเหม็นของขยะที่จะโชยมาตามลม เนื่องจากบ้านของเธออยู่ทางทิศใต้กองขยะเพียง 500 เมตร ทำให้ได้รับกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะมาหลายปีแล้ว ยิ่งใน ช่วงเพลิงไหม้กองขยะ ควันไฟที่ลอยมาทำให้พ่อ แม่ ลูกเกิดอาการเวียนศรีษะ และอาเจียน จนต้องหอบข้าวของออกไปอยู่ที่อื่นๆ และปัจจุบันยังตัดสินใจซื้อเครื่องฟอกอากาศ 2 ตัวเพื่อไว้กรองอากาศพิษอีกด้วย ส่วนนางเดือน พรหมโสภา เจ้าของ ร้านขายของชำ จากชุมชนธัญยพร ห่างจาก บ่อขยะเพียง 500 เมตร บอกตรงกันว่า กังวลกับความเจ็บป่วยจากพิษภัยที่รออยู่ข้างหน้า หลังจากฟังข่าวว่าควันไฟที่สูดดมไปตลอด 1 สัปดาห์ในช่วงเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะ มีอันตรายมากมาย จนต้องนำแผ่นพลาสติกใส มาปิดทับประตูมุ้งลวดอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็น และป้องกันฝุ่น
"วันที่เราหนีมันสุดๆแล้ว นอนหลับอยู่ต้องสะดุ้งตื่นเกือบ 5 ทุ่มคืนวันที่ 16 มี.ค.
เหมือนคนจะสำลักควัน เลยย้ายไปที่ ศูนย์อพยพทั้งอาทิตย์ พอกลับเข้าบ้านต้อง ขนเสื้อผ้า ถ้วยชาม และถอดมุ้งลวด ออกทำความสะอาดทั้งหมด บ้านมีแต่ฝุ่นละอองเล็กๆ และกลิ่นไหม้ของควันและสารเคมี และตอนนี้ยังมีอาการเจ็บคอ แสบตาอยู่ ส่วนการเจาะเลือดตรวจหาสารพิษ ทำตั้งแต่หลังเกิด2 วันยังรอผลตรวจอยู่" เดือนบอกว่า มีส่วนกังวลใจอยู่บ้างกับผลตรวจ เพราะครอบครัวเธออาศัยมานานถึง 11 ปี
สำหรับแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพ จากไฟไหม้บ่อขยะครั้งนี้ พญ.เกศ สัตยพงศ์แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลสมุทรปราการ บอกว่า หลังจากตรวจคัดกรองแล้ว ในรายที่ผลพบความเสี่ยง จะจัดลำดับการระวังโรคเป็นรายกรณี เช่น กลุ่มดับเพลิงอาจต้องติดตามสุขภาพต่อเนื่องในระยะ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี จนถึง 5 ปี
ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัจจัยของโรคร้ายจาก สารมลพิษที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจสัมพันธ์ กับสารมลพิษ เช่น โรคมะเร็ง โรคระบบ ทางเดินหายใจ รวมทั้งกลุ่มโรคระบบ หลอดเลือดและหัวใจ อาจไม่ได้มีเพียงการ สูดดมควันพิษจากบ่อขยะเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นทางสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบ อาทิ คนที่เป็นนักดับเพลิง แต่สูบบุหรี่ด้วยก็อาจทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยง ส่วนชาวบ้านที่มีโรคอยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงก็ต้องติดตามเช่นกัน
มหันตภัยจากควันไฟบ่อขยะแพรกษา อาจไม่จบลงแค่การปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อม แต่ยังหมายถึงความเสี่ยงทางชีวิต สุขภาพ ในระยะยาว ที่ต้องจับตา...
"วันที่เราหนีมันสุดๆแล้ว นอนหลับอยู่ต้องสะดุ้งตื่นเกือบ5ทุ่ม คืนวันที่16มี.ค. เหมือนจะสำลักควัน เลยย้ายไปอยู่ ที่ศูนย์อพยพ ทั้งอาทิตย์ " เดือน พรหมโสภา
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 เมษายน 2557
- 73 views