เดลินิวส์ - "หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน" นี่เป็นชื่อของหน่วยงานตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 50(5) เป็นศูนย์ คุ้มครองสิทธิ นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เพื่อทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้สิทธิ และสิทธิอันพึงมีพึงได้แล้ว ยังมีบทบาทในการ เป็นช่องทางร้องเรียน และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ในกรณีที่ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุข ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือประชาชนเกิดความเสียหายอันเนื่องจากการเข้ารับ บริการสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อนำสู่การพัฒนาบริการสาธารณสุข
การจัดตั้ง "หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน" ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ล่าสุดมีการตั้งศูนย์รับเรื่องกระจายทั่วประเทศ 56 ศูนย์ และเตรียมจะขยายเพิ่มอีก
ทั้งนี้ กับเรื่องดังกล่าวนี้ นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยไว้ว่า...การจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2552 จำนวน 4 ศูนย์ ซึ่งหน่วยงานนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ยัง ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้ด้วย โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2556 มีจำนวนเพิ่มเป็น 53 ศูนย์ และล่าสุดในปี 2557 จนถึงขณะนี้ได้มีการจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 3 ศูนย์ รวมขณะนี้มีทั้งหมด 56 ศูนย์แล้ว
ในส่วนของเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามายังหน่วยรับเรื่อง ในปี 2555 มี 463 ราย ใกล้เคียงกับปี 2556 ที่มี 482 ราย และช่วงต้นปี 2557 มีการร้องเรียนแล้วกว่า 45 ราย ซึ่งเมื่อรวมจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่แรก เริ่ม ทาง "หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน" ได้รับเรื่องแล้วกว่า 1,173 ราย โดยหลังรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจ และสามารถยุติเรื่องได้ คิดเป็นร้อยละ 69.90 และในส่วนของอนุกรรมการวินิจฉัย คำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น มาตรา 41 มี 99 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 8.44
"ในจำนวนนี้มีการส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการควบคุมพิจารณาฯ 66 ราย หรือร้อยละ 5.63 และที่เหลือเป็นการให้ความช่วยเหลืออื่น 188 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.03"...นพ.วีระวัฒน์ ระบุ
รองเลขาธิการ สปสช. ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า...จากข้อมูลดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของ "หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน" โดยมีจำนวนร้อยละ 50 ของหน่วยงานที่จัดตั้งที่สามารถเป็นต้นแบบเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานได้ พร้อมกันนี้ ก็ได้มีการเห็นควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงานของหน่วยงาน ซึ่งในช่วงปี 2557-2559 ได้มีการจัดทำ แผนพัฒนาหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 4 แผนงาน
"ประกอบด้วย...1. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การรับรู้ เข้าถึงสิทธิ และการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย, 2. การพัฒนารูปแบบมาตรฐานการรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน, 3. การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำหรับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ และกระบวนการร้องเรียน, 4. การร่วมพัฒนา และผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก" ...รองเลขาธิการ สปสช. ระบุ
และนอกจากที่ว่ามาข้างต้นแล้ว 'ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน" นี่ก็เป็นอีกส่วนเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในส่วนนี้ สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านเด็กและเยาวชน ระบุไว้ว่า...เป็นนวัตกรรมในการสร้างความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายประชาชนกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ ให้มีส่วนพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเข้มแข็ง
สร้างกลไกให้เกิดการพัฒนาการมีส่วนร่วม ในระดับนโยบาย เขต จังหวัด และพื้นที่ สนับสนุนการมีส่วนร่วม เน้นตอบสนองการดูแลสุขภาพระดับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเอง โดยกลไกส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ในชุมชนท้องถิ่น สร้างความ ร่วมมือในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งประชาชน วิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกัน โดยเชื่อมโยงแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่น
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพฯ มีอยู่ประมาณ 100 กว่าศูนย์ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจสุขภาพในทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างสัมพันธภาพกับหน่วยอื่น ๆ และภารกิจอีกเรื่องคือการรับเรื่องร้องเรียน ให้ประชาชนรู้ว่า มีมาตรา 41 สำหรับช่วยเหลือเยียวยากรณีได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การร้องเรียนโดยตรง แต่เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ประชาชนมี
ทั้งนี้ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อมูลที่ประชาชนคนไทยพึงรู้ และสำหรับผู้ที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็สามารถสอบถามได้ทางสายด่วน สปสช. โทร.1330 ซึ่งให้บริการ 24 ชั่วโมง
คนไทยที่มีสิทธิในระบบนี้มีราว 48 ล้านคน
การรู้และเข้าใจในสิทธิถือเป็นสิ่งที่สำคัญ!!.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 3 views