มติชน - เอ็นจีโอเผยยาต้านไวรัสเอชไอวี'เอฟฟาไวเรนซ์'หมดสิทธิบัตรแล้ว เพิ่มโอกาส ผู้ป่วยข้ามชาติรับยาราคาถูก เตรียม เข้าพบ ผอ.อภ.สัปดาห์หน้าหวังผลิตเองในประเทศ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ปัญหาการได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีมาตลอด แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีนโยบายดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้ด้วยการขายบัตรประกันสุขภาพในราคา 2,800 บาทต่อคน เพื่อครอบคลุมการรักษาพยาบาลต่างๆ แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการรักษาเท่าที่ควร โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ป่วยโรคเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10,000 คน และต้องใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในกลุ่ม "เอฟฟาไวเรนซ์" แต่ปัญหาคือ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่อยากรวมการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดนี้ในบัตรสุขภาพของ สธ. เนื่องจาก มีราคาแพง เพราะไม่สามารถซื้อได้ในราคาเหมือนผู้ป่วย คนไทยที่ได้รับสิทธิการใช้ยาจากกรณีการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ หรือซีแอล ซึ่งเป็นความร่วมมือในการลดราคายาต้านไวรัสที่มีราคาแพงลง
นายนิมิตร์กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวทำให้แรงงานข้ามชาติต้องซื้อยาเองบ้าง บ้างก็ต้องใช้วิธีการรับบริจาคยาจากกลุ่มที่มีอาการดีขึ้น รวมทั้งบุคคลรอพิสูจน์สถานะในกองทุนคืนสิทธิของ สธ. ก็ไม่สามารถใช้ยาตัวนี้ได้ ต้องซื้อในราคาแพง ตกค่าใช้จ่ายคนละ 600-700 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้ป่วยไทยจะสามารถซื้อได้ตามสิทธิซีแอล ทำให้มีราคาถูกลงเพียง 450-500 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเป็นข่าวดีเนื่องจาก ยาเอฟฟาไวเรนซ์ หมดอายุสิทธิบัตรลงไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 นั่นหมายความว่าไม่ว่ากรณีใดๆ ก็จะสามารถซื้อยาชนิดนี้ได้ในราคาถูกลง โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะสามารถผลิตยาสูตรนี้ได้ในนามยาสามัญ ทำให้แรงงานข้ามชาติหรือบุคคลที่ยังไม่ได้รับสถานะไทยมีโอกาสรับยาดังกล่าว
"จากนี้จะต้องแจ้งให้กองทุนคืนสิทธิ กองทุนที่ไม่สามารถใช้สิทธิซีแอล และโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนรับทราบ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลว่า จะต้องซื้อยาราคาแพงอีก พร้อมทั้งจะขอเข้าพบผู้อำนวยการ อภ.ในสัปดาห์หน้าถึงแนวทางเดินหน้าเรื่องดังกล่าว เพื่อผลิตเองภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติ คนรอพิสูจน์สถานะบุคคล จะช่วยให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น และยังลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปยังคนกลุ่มอื่นๆ อีก อีกทั้งมูลนิธิฯ จะจัดงานฉลองหมดสิทธิบัตรยาเอฟฟาไวเรนซ์ในวันที่ 27 มีนาคม 2557 เพื่อให้สาธารณะรับทราบเรื่องดังกล่าว ส่วนยาสูตรผสมโลพินาเวียร์กับริโทนาเวียร์ ที่อยู่ในการประกาศใช้ซีแอลด้วยนั้น จะหมดอายุสิทธิบัตรในปี 2558" นายนิมิตร์กล่าว
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 28 views