พบผู้ป่วยโรคไตเสื่อม 5-10% เกิดจากการใช้ยาปริมาณมาก โดยเฉพาะ ยาบำรุง อาหารเสริม ศิริราชเตือนผู้ป่วยโรคไตเลี่ยงยา 3 ชนิดคือ ยาแก้อักเสบ ลดปวดข้อ ยาไข้หวัดลดน้ำมูก และยาความดัน แนะสังเกตอาการเบื้องต้นส่อโรคไตถามหา ทั้งหนังตาบวมตอนตื่น ปัสสาวะเป็นฟองยามปกติ และปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์

 วันนี้ (13 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช   รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนา “สูงวัย ไตแข็งแรง” ว่า จากข้อมูลสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยเป็นโรคไตมากถึง 17% หรือประมาณ 10 ล้านคน จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรัง จำเป็นต้องฟอกเลือด ล้างไตผ่านช่องท้องมากถึง 5% หรือราว 1-2 แสนคน สาเหตุเกิดจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากที่สุดประมาณ 60-70% นอกจากนี้ เกิดจากโรคไตอักเสบ และโรคนิ่ว เป็นต้น แต่ที่น่ากังวลคือ 5-10% เกิดจากการกินอาหารเสริม ยา และยาบำรุงต่างๆ มากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่ายิ่งกินยิ่งดีต่อสุขภาพ แต่จริงๆ แล้วมีผลต่อไตด้วย ทำให้ไตเสื่อมด้วย
       
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า การสังเกตอาการโรคไตนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดและได้ผลชัดเจนที่สุดคือการเจาะเลือดตรวจ โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็กสภาพของไต แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไตคือ 1.มีอาการบวม โดยเฉพาะหนังตาบวมหลังจากตื่นนอนตอนเช้า 2.ปัสสาวะมีฟอง เนื่องจากมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่กรณีนี้ต้องเป็นการปัสสาวะตามปกติ มิใช่การปัสสาวะหลังจากมีกิจกรรมทางเพศ เพราะในน้ำอสุจิจะมีโปรตีนเช่นกัน ทำให้การปัสสาวะมีฟองได้ และ 3.ปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ ทุกคืน ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีอาการดังกล่าว ส่วนความเชื่อที่ว่าอาการปวดหลังเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตด้วยนั้น จากการตรวจผู้ป่วยพบว่าไม่ถึง 5% ที่ภาวะไตเสื่อมเกิดจากอาการปวดหลัง นอกจากนี้ เอกลักษณ์หนึ่งของผู้ป่วยโรคไตคือ ผิวแห้งและดำคล้ำ เนื่องจากมีการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับสีผิวออกมา แต่หากเปลี่ยนถ่ายไตแล้วอาการผิวดำ แห้งจะหายไป แต่การสังเกตผิวด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก 
       
“สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตจะต้องรู้ตัวว่ามีโรคกลุ่มหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไตวายได้ คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงนิ่ว และทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ดังนั้น การดูแลสุขภาพจึงต้องปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงคือ ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียดจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ จนกระทบต่อไต พักผ่อนให้เพียงพอ ลดกินอาหารเค็ม อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพราะไตทำหน้าที่เสมือนเครื่องกรอง หากกินอาหารหนักๆ อย่างจำพวกเนื้อจะยิ่งทำให้ไตใช้พลังงานในการทำงานหนักขึ้น ไตก็จะเสื่อมไวขึ้น ผู้ป่วยจึงควรกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้น” หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต กล่าว
       
ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือปัญหาการใช้ยา หรือยาบำรุงจำนวนมากมีผลต่อไต โดยยาที่มีผลกระทบต่อโรคไตโดยตรงคือ 1.ยาแก้ปวดข้อ เช่น ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ หรือยากลุ่ม NSAID หรือยาต้านการอักเสบ เพราะจะทำให้เลือดเกิดอาการคั่ง บวม เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง ทำให้ไตเสื่อม 2.ยาไข้หวัด ลดน้ำมูก ซึ่งกินแล้วง่วง น้ำมูกแห้ง จะส่งผลให้ความดันขึ้น ทำให้ไตแย่ลง และ 3.ยาโรคความดัน ก็มีผลให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยาโรคความดันจำเป็นต้องกิน เพราะหากไม่กินควบคุมความดัน อาการความดันสูงก็จะส่งผลต่อไตเช่นกัน คือเป็นยาที่ไม่ว่ากินหรือไม่กินก็มีผลกระทบต่อไต ดังนั้น การกินยาต่างๆ โดยเฉพาะยาความดันจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และผู้ป่วยต้องสังเกตอาการหากกินยาแล้วเวลาลุกขึ้นเกิดอาการวิงเวียน แสดงว่าความดันต่ำ คือมีการกินยามากเกินไป ต้องลดปริมาณยาลง ส่วนยาบำรุง อาหารเสริมต่างๆ คนเป็นโรคไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่ากินได้หรือไม่