อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯยันตัวเลข'คนไร้สถานะ'มีถึง 6 แสนคน เสนอรัฐบาลบรรจุเข้า'กองทุนคืนสิทธิ'ทั้งหมด ชี้ใช้งบประมาณ 957.5 ล้านบาทต่อปี
กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถอดสิทธิบุคคลกลุ่มรอพิสูจน์สถานะที่ยังไม่ได้เลขบัตรประจำตัวประชาชนออกจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 95,071 คน เนื่องจากซ้ำซ้อนกับรายชื่อในกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนไม่ได้สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้น
นายสุรพงษ์ กองจันทึก
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นายสุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการด้านเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎเพื่อสำรวจและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านนี้ และเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางการแก้ไขคนไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา เคยศึกษาเรื่องนี้พบว่าคนที่มีปัญหาแบบนี้ไม่ได้มีเพียง 450,000 คน ที่มีชื่ออยู่ในกองทุนคืนสิทธิเท่านั้น แต่ยังมีอีก 150,999 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ตกสำรวจจากกลุ่ม 450,000 คน กล่าวคือ เป็น กลุ่มที่สำรวจพร้อมกันแต่กลับไม่พบชื่อ จำนวน 150,535 คน และกลุ่มคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะเกิดได้ แต่ยืนยันว่าเป็นคนไทย เพราะอยู่ในประเทศไทยมานานอีก 464 คน ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับการดูแลตามสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่สิทธิพลเมือง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลต้องได้รับ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี
"ทีมศึกษาได้นำเสนอตัวเลขกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะ 150,999 คน ให้แก่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 เพื่อให้พิจารณานำเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิ ซึ่งปัจจุบันกองทุนนี้ดูแลคนกลุ่มรอพิสูจน์สถานะอยู่ 450,000 คน ใช้งบประมาณปีละ 900 ล้านบาท โดยหากมีการเพิ่ม 150,999 คน จะเพิ่มเงินอีกเพียง 57.5 ล้านบาทเท่านั้น แต่คนเหล่านี้ได้รับการบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานเหมือนคนอื่นๆ ปัญหาคือ รัฐบาลอาจพิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ แต่เชื่อว่าทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ" นายสุรพงษ์กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาว่าตัวเลขกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะบุคคลที่หลงเหลือในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีเท่าใด และเมื่อส่งมอบให้ สธ.ดูแลตามกองทุนคืนสิทธิแล้ว เพราะเหตุใดจึงยังมีปัญหา แต่ตัวแทน สธ.กลับไม่ได้เข้าร่วมประชุม จึงไม่ได้คำตอบ ดังนั้น ในวันที่ 9 เมษายนนี้ ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ด สปสช.จะเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมอบให้ สปสช.บริหารจัดการกองทุนคืนสิทธิแทน สธ. เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการบริหารกองทุนอยู่แล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 มีนาคม 2557
- 2 views