ไทยโพสต์ - "ประดิษฐ" ชี้ สปสช.ทำถูกต้องโอนกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะให้ สธ.ดูแลตามกฎหมาย ระบุใช้งบที่มีอยู่จัดการ ด้านหมอวินัยเผยเตรียมถอด อปท. 3 แสนคนออกจากบัตรทอง พลังพบสิทธิซ้ำซ้อน ขณะที่หมอบัญชาเสียงแข็ง คนรอพิสูจน์สถานะ 95,071 คน ไม่ได้อยู่ในรายชื่อเดิมของกองทุนคืนสิทธิ แต่กำชับทุกหน่วยบริการเต็มที่ไม่มีข้อแม้ ถึงจะมีปัญหาการเงิน
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการ รมว.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถอดสิทธิกลุ่มรอพิสูจน์สถานะบุคคลออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับคนมีปัญหาสถานะและสิทธิของ สธ. จำนวนเกือบ 2 แสนคน แต่เกิดปัญหาระบบจนคนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับการรักษาพยาบาลได้ เนื่องจาก รพ.ตรวจไม่พบสิทธิในระบบใดๆ ว่า โดยหลัก สปสช.ทำถูกต้องตามขั้นตอน เนื่องจาก สปสช.มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการดูแลคนไทย ซึ่งในกลุ่มรอพิสูจน์สถานะนั้นยังไม่ได้รับเลขบัตรประจำตัวประชาชน จึงต้องถูกถอดออกจากระบบ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดูแล เนื่องจากระบบจะโอนให้กองทุนคืนสิทธิของ สธ.ดูแลทันที ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในกองทุนคืนสิทธิอีกกว่า 1.5 แสนคนนั้น จะต้องตรวจสอบระบบไม่ให้ปะปนกับกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพราะใช้งบประมาณคนละส่วน โดยกองทุนคืนสิทธิใช้งบปีละ 900 ล้านบาท ในจำนวน 4.5 แสนคนที่รอพิสูจน์สัญชาติ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เดิมที สปสช.เคยเสนอขอจัดตั้งกองทุนคืนสิทธิให้กลุ่มคนรอพิสูจน์สัญชาติจำนวน 4.5 แสนคน ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อขอจัดตั้งกองทุนคืนสิทธิให้ แต่ถูกท้วงติงว่า สปสช.มีหน้าที่ดูแลเฉพาะคนไทย จึงมอบเรื่อง สธ.ดูแลตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ได้ของบประมาณเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ปีละประมาณ 900 ล้านบาท แต่เนื่องจาก สปสช.จำเป็นต้องตรวจสอบสถานะบุคคลตามทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย พบว่าปี 2556 มีกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะ ซึ่งยังไม่ใช่คนไทยจำนวน 95,071 คน แต่ชื่ออยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และมีรายชื่ออยู่ในกลุ่มคนรอสถานะ 4.5 แสนคนเช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อทำให้ระบบถูกต้องจึงต้องส่งกลับให้ สธ.ดูแล ส่วนตัวเลขกลุ่มคนรอสถานะที่นักวิชาการบอกว่ามีอีกกว่า 150,000 คนนั้น ระบบยังตรวจไม่พบ
"เรื่องนี้ สปสช.ทำตามหน้าที่ โดยได้พัฒนาระบบตรวจสอบสิทธิเพื่อลดปัญหาใช้สิทธิซ้ำซ้อน ซึ่งยังพบว่าในปี 2556 ตรวจพบกลุ่มข้าราชการท้องถิ่นอยู่ในระบบบัตรทองจำนวนกว่า 3 แสนคน จึงต้องเอาออกจากระบบบัตรทองให้เข้าสู่กองทุนรักษาพยาบาลของ อปท. โดย สปสช.เป็นผู้บริหารกองทุนเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 ซึ่งกรณีนี้ไม่ต้องกังวล ทุกคนได้รับสิทธิการรักษาแน่นอน เพราะเพียงโยกชื่อเท่านั้น ส่วนงบประมาณไม่มีการขอซ้ำซ้อน เนื่องจาก สปสช.ได้ทำเรื่องถอดคนกลุ่มนี้ออกจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีงบประมาณ 2557 แล้ว คงไว้ดูแลเฉพาะคนในสิทธิเท่านั้น" นพ.วินัยกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะจำนวน 95,071 คน ที่มีปัญหาเรื่องสิทธิที่ สธ.ไม่ดูแลแล้ว ตามหนังสือเลขที่ สปสช.2.56/06725 ลงวันที่ 27 ธ.ค.2556 ระบุว่า กลุ่ม คนรอพิสูจน์สถานะจำนวน 4.5 แสนคนที่ สธ.ดูแลนั้น มีจำนวน 65,689 คนที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มรอพิสูจน์สถานะและบุคคล จึงไม่ควรอยู่ในกองทุนคืนสิทธิหรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมา สธ.มีการดูแล บริหารจัดการคนกลุ่มนี้อย่างไร งบประ มาณที่ใช้สำหรับคนกลุ่มนี้บริหารจัดการอย่างไร กระจายไปให้ใครบ้าง หากจะให้ชัดเจน สธ.ควรนำข้อมูลมากางให้ชัดเจน ซึ่งในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2554 กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะได้รับเลขทะเบียนเป็นคนไทยแล้วปีละ 5,000 คน แสดงว่าตัวเลขกองทุนที่ สธ.ดูแลต้องมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เรื่องนี้ สธ.ต้องชี้แจง
ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มงานหลักประกันสุขภาพ สธ. กล่าวว่า ตนยืนยันว่ากลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะจำนวน 95,071 คนนั้นไม่ได้อยู่ในรายชื่อของกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะจำนวน 4.5 แสนคนที่ สธ. ดูแลมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ สปสช.พยายามจำหน่ายมาให้ สธ.ดูแล อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนมาครั้งนี้ ทาง สปสช.ไม่ได้แจ้งให้ สธ.ทราบล่วงหน้า ทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมระบบรองรับได้ทัน อีกทั้ง สปสช.เองยังไม่ได้แจ้งให้กับเจ้าของสิทธิทราบ อย่างไรก็ตาม ทาง สธ.ได้แจ้งไปยังหน่วยบริการทุกหน่วยแล้วว่าให้บริการผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยไม่มีเงื่อนไข ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายก็ตาม เช่นเดียวกัน สธ.ก็ต้องตรวจสอบสถานะของกลุ่มคนดังกล่าวที่ถูกถ่ายโอนมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคิดว่าจะมีบางส่วนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่การที่เขามีสิทธิบัตรทองอยู่แล้วถูกปรับมาเป็นคนไร้รัฐมันจะมีปัญหากับประชาชนคนเหล่านี้หรือไม่ ตามกฎหมายคนไร้รัฐก็เป็นคนไร้รัฐ แต่ความรู้สึกของเขาจะเป็นอย่างไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 11 มีนาคม 2557
- 17 views