ยารักษาโรค..1 ในปัจจัย 4 ที่จำเป็นกับมนุษย์ทุกคน เพราะคงไม่มีใครที่ตั้งแต่เกิดจนตายจะไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างไรก็ตาม แม้ยาจะถือเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณอนันต์แต่ก็อาจมีโทษมหันต์ได้เช่นกัน หากใช้อย่างไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมย่อมเกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ยา เช่น เชื้อโรคอาจจะดื้อยาทำให้รักษาได้ยาก หรือร้ายไปกว่านั้น อาจไปทำลายกลไกหรือโครงสร้างของร่างกาย จนถึงขั้นเสียชีวิตไปเลยก็มี
รศ.ดร.ศิริพร ขัมภลิขิต ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และกรรมการที่ปรึกษาสภาการพยาบาล กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเรื่องปัญหาการใช้ยาในสังคมไทย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ว่าปัจจุบันค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 36,506 ล้านบาท ในปี 2543 เป็น 98,375 ล้านบาท ในปี 2551 โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี
และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายด้านยา คิดเป็นร้อยละ 46.7 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วราว 2 เท่าตัว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มการนำเข้ายาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 65 ในช่วงเดียวกัน
"แนวโน้มการเพิ่มของมูลค่าการบริโภคยาที่สูงมากเกิดจาก 1.คนไทยอายุยืนขึ้นแต่โรคเรื้อรังมากขึ้น ป่วย นานขึ้น 2.ราคายาที่สูงขึ้นเนื่องจากการมีสิทธิบัตร 3.คนไทยเข้าถึงยามากขึ้นจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพ ที่สำคัญที่สุดเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม เกินความจำเป็น และกระบวนการตลาดที่ขาดจริยธรรม การควบคุมกำกับที่ ไม่เข้มแข็งของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เป็นปัญหามากกว่า Medical errors (ความผิดพลาดทางการแพทย์) เพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้องมาก เป็นประโยชน์หลายฝ่าย คือผู้สั่งยา ผู้ขายยา ผู้กำกับนโยบายที่มีอำนาจด้านเงินทุน และการเมือง" รศ.ดร.ศิริพร กล่าว ซึ่งก็สอดคล้องกับการศึกษาเชิงสืบสวนสอบสวนหลายกรณีในต่างประเทศ ที่เผยให้เห็นมูลค่ามหาศาลของธุรกิจเวชภัณฑ์ข้ามชาติ
เช่นหนังสือชื่อ The Truth About the Drug Companies (แปลไทยในชื่อ "กระชากหน้ากากธุรกิจ ยาข้ามชาติ") เขียนโดยแพทย์หญิง Marcia Angell อดีตบรรณาธิการของวารสาร New Journal of Medicine ซึ่งเป็นวารสารเกี่ยวกับวงการแพทย์และสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงมากฉบับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า..ธุรกิจยาในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาทไทย (เปรียบเทียบ ณ ช่วงที่หนังสือเล่มนี้เริ่มวางจำหน่าย ในปี 2547 หรือ ค.ศ.2004)
ขณะที่ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานกลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาใหญ่ที่พบคือ สเตียรอยด์ (Steriods) หรือสารที่ใช้ลดความเจ็บปวดบรรเทาอาการอักเสบ ที่พบมากแทบจะทุกหย่อมหญ้า แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถระบุได้ว่าผลิต นำเข้า หรือใช้วัตถุดิบเท่าไรกันแน่
"เราเชื่อว่าสเตียรอยด์ตอนนี้ปัญหาที่มันแพร่ระบาดเยอะมันมาจากตลาดมืด คือลักลอบเอาเข้ามา ไม่ผ่านระบบ และระบบก็อ่อนแอที่ไม่สามารถจะชี้ได้ว่ามันกระจายไปที่ไหนอย่างไรจากโรงงาน เพราะโรงงานก็ผลิตแล้วสามารถส่งไปให้ร้านยา และร้านยาส่งต่อไปโดยที่ไม่มีระบบติดตามไปถึง จุดหมายปลายทาง เพิ่งมาเริ่มต้นเมื่อมันเกิดปัญหาแล้ว ซึ่งยังเริ่มต้นไม่ดีเท่าไหร่ เพราะยังอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูล ว่าแต่ละ พื้นที่ที่ส่งปัญหาเข้ามา โรงงานนี้ผลิตไปแล้วกี่เม็ด จะไปอยู่ที่ไหนบ้าง เพิ่งเริ่มต้นทำ
เพราะนี่คือการบริหารกฎหมาย กฎหมายมันมีอยู่ระดับหนึ่ง แม้ว่ามันจะล้าสมัย แต่การบริหารกฎหมายสำคัญเท่าๆ กันกับสาระกฎหมายเลย บางท่านคงยังไม่รู้จักว่าสเตียรอยด์คืออะไร? สเตียรอยด์ คือยาวิเศษ กินแล้วมันจะดีทันตา ปวดเมื่อยก็จะหายปวดเมื่อย เป็นภูมิแพ้ก็จะหายภูมิแพ้ แต่มันโทษมหันต์ และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ แต่หาซื้อได้ในร้านชำ หาซื้อได้ในอาหารเสริม หาซื้อได้ในเครื่องดื่มผลไม้ ฉะนั้นในระบบควบคุมยาพิเศษต้องมารื้อใหม่ เพราะเชื่อว่ามันจะออกมาแบบเดียวกับยาอี" ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ให้ความเห็นรายงานของ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าในปี 2553 คนไทยบริโภคทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาแผนโบราณที่ผลิตเองและนำเข้าประมาณ 47,000 ล้านเม็ดต่อปี หรือเฉลี่ย 128 ล้านเม็ดต่อวัน โดยมีผู้ป่วยซื้อยารับประทานเองร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั้งหมด
นอกจากนี้ การสำรวจสุขภาพคนไทยปี 2550-2552 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป รับประทานยาแก้ปวดทุกวัน ร้อยละ 2.3 รับประทานยานอนหลับเป็นประจำ ร้อยละ 3.3 รับประทานยาลูกกลอนเป็นประจำ ร้อยละ 2.1 และรับประทานยาลดความอ้วน ร้อยละ 1.1 ซึ่งยาที่คนไทยใช้มากเป็นอันดับ 1 คือ ยาปฏิชีวนะ มีการใช้ร้อยละ 20 ของยาทั้งหมด และหลายครั้งเป็นการใช้ยาเกินขนาด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อโรคดื้อยา
ภญ.ดร.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า ปัจจุบันคนมักจะเข้าใจสับสนกับ 3 คำ คือคำว่ายาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ และยาฆ่าเชื้อ ซึ่ง ยาปฏิชีวนะ หมายถึงยาฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย เช่น เพนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน, ยาแก้อักเสบ คือยาต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวม เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และ ยาฆ่าเชื้อ คือ ยาฆ่าเชื้อรา (ยาต้านเชื้อรา) ยาฆ่าเชื้อไวรัส (ยาต้านไวรัส) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ)
สาเหตุมาจากแต่ก่อนนี้เวลาไปหาหมอ แล้วมักได้รับการอธิบายว่า คออักเสบเอายาแก้อักเสบไปกิน ซึ่งคนทั่วไปก็จะนึกว่าคือยาอะม็อกซีซิลลิน และยาปฏิชีวนะคือยาแก้อักเสบ ก็จะฝังใจมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ใช้ยาแก้อักเสบติดต่อกัน ตลอดมา จนยานี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งยุค เนื่องจากยุคสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่จะตายด้วยการติดเชื้อแบคทีเรีย
จนกระทั่ง เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง (Sir Alexander Fleming) นักชีววิทยาชาวสกอตแลนด์ ค้นพบยา เพนิซิลลิน (Penicillin) ในปี 2471 (ค.ศ.1928) ปรากฏว่าสามารถลดการตายจากโรคติดเชื้อที่เคยตายประมาณร้อยละ 90-100 ให้หายขาด ถึงขนาดที่ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีโปสเตอร์รณรงค์ของยาปฏิชีวนะว่า ถ้าทหารบาดเจ็บแล้วไม่ได้ยาปฏิชีวนะก็จะต้องตายเพราะติดเชื้อในสงคราม รวมทั้งยังมีการโฆษณายาปฏิชีวนะอีกหลายประเภท เช่น รักษาโรคหนองใน พลานาเรีย ให้หายภายใน 24 ชั่วโมง เรียกว่าเป็นช่วงยุคทองของยาปฏิชีวนะเลยก็ว่าได้
ทว่าหลังจากนั้นปัญหาก็เกิดขึ้น เนื่องจากมนุษย์ใช้ยาปฏิชีวนะกันแบบพร่ำเพรื่อ แต่แบคทีเรียบางตัวไม่ตาย และเมื่อไม่ตายก็จะวิวัฒนาการตนเองให้แข็งแกร่งขึ้น กลายเป็นเชื้อโรคที่ตัวยาเดิมไม่สามารถรักษาให้หายได้อีกต่อไป จนเป็นวิกฤติที่วงการแพทย์ทั่วโลกกังวลในปัจจุบัน
"ปัจจุบันเราอยู่ในยุคหลังยาปฏิชีวนะ เพราะว่ายุคก่อนยาปฏิชีวนะเราติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่มียาปฏิชีวนะเราตาย พอมาพบยาปฏิชีวนะ เราติดเชื้อแบคทีเรีย เรามียาปฏิชีวนะ เราก็หาย เพราะว่ามันเป็น Miracle drug (ยาวิเศษ) ตอนนี้เชื้อแบคทีเรียมันดื้อยา ฉะนั้นแม้เรามียาปฏิชีวนะ เราก็ตายอยู่ดี เรามีทางออกอยู่ 2 ทางคือ 1.ต้องไปหายาใหม่ให้ได้ภายในปี 2020 (พ.ศ.2563) หรือ 2.เราจะต้องลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงเพื่อให้เชื้อนั้นกลับมาไวต่อยาเหมือนเดิม"
ภญ.ดร.นิธิมา กล่าวถึงแนวโน้มวิกฤติการใช้ยาของประชากรโลก ขณะเดียวกันก็แสดงความเป็นห่วงคนไทยที่เคยชินกับพฤติกรรม "นึกอะไรไม่ออกบอกยาปฏิชีวนะ"โดยยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พบว่าถุงยังชีพ ที่ได้รับบริจาคเป็นจำนวนมาก มีการบรรจุยา อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) โดยไม่ระบุวิธีใช้และคำเตือนลงไปด้วย ราวกับเป็นยาสามัญประจำบ้าน ทั้งที่เป็นยาต้องควบคุมตามใบสั่งแพทย์ เนื่องจากมีผลข้างเคียงกับคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคตับ โรคไต หญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร เป็นต้น
ยารักษาโรค..เรื่องเล็กๆ ที่มักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติเลยก็ว่าได้ ด้านหนึ่งการที่ประชาชนใช้ยาอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เป็นภาระของรัฐในการดูแลรักษา
อีกด้านหนึ่ง ตัวยาสำคัญหลายชนิด พบว่าประเทศไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องกระทบต่องบประมาณอุดหนุนระบบหลักประกันสุขภาพอย่างมหาศาล เนื่องจากคนไทยจำนวนมากต้องพึ่งพาสวัสดิการดังกล่าว ซึ่งเมื่อหันไปดูประเทศที่คนไทยมักจะมองแล้วเมินอย่างอินเดีย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ฝากทิ้งท้ายว่า..40 ปีก่อนอินเดียล้าหลังกว่าไทยเรื่องการผลิตยา แต่ในวันนี้อินเดียกลายเป็นแหล่งผลิตทั้งยาต้นแบบและ ยาสามัญในระดับโลก
ที่สำคัญคือ..ราคาถูกกว่ายาจากชาติตะวันตกอีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 7 มีนาคม 2557
- ยารักษาโรค
- ศิริพร ขัมภลิขิต
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล
- Medical errors
- ความผิดพลาดทางการแพทย์
- The Truth About the Drug Companies
- Marcia Angell
- กระชากหน้ากากธุรกิจ ยาข้ามชาติ
- New Journal of Medicine
- นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี
- แผนงานกลไกเฝ้าระวังระบบยา
- กพย.
- สเตียรอยด์
- Steriods
- นิธิมา สุ่มประดิษฐ์
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- อย.
- ยาปฏิชีวนะ
- ยาแก้อักเสบ
- ยาฆ่าเชื้อ
- Alexander Fleming
- เพนิซิลลิน
- Penicillin
- Miracle drug
- ยาวิเศษ
- อะม็อกซีซิลลิน
- Amoxicillin
- 846 views