มติชน - กทม.เตือนเร่งกำจัดแหล่งลูกน้ำ หลังเกิดปรากฏการณ์ยุงชุมผิดปกติ คร.ชี้อย่าวิตกเป็นช่วงรอยต่อเปลี่ยนฤดู ส่วนใหญ่เป็นยุงรำคาญ ไม่ได้นำโรคไข้สมองอักเสบง่ายๆ แต่ระวังย่างเข้าหน้าร้อน ยุงลายอาละวาด อาจเกิดโรคไข้เลือดออก

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายครัวเรือนประสบปัญหายุงชุกชุม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดปริมาณยุงถึงมากกว่าปกติ และกังวลว่าจะก่อให้เกิดโรคระบาดหรือไม่ จริงๆ แล้วสาเหตุที่พบยุงชุกชุมในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของฤดูหนาวไปฤดูร้อน โดยช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงฤดูหนาว ยุงต่างๆ ก็จะน้อยลง สาเหตุมาจากแมลงที่เป็นศัตรูของยุงได้จับกินลูกน้ำจนหมด ทำให้ประชากรยุงน้อยลง แต่พอเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนยุงก็กลับเพิ่มขึ้น แต่ที่พบเห็นในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่เป็นยุงรำคาญ ไม่ใช่ยุงลาย จึงไม่ก่อโรคไข้เลือดออก แต่จะก่อโรคไข้สมองอักเสบ แต่ไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรคไข้สมองอักเสบ ภาครัฐได้มีการฉีดวัคซีนพื้นฐานให้กับเด็กแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นยุงรำคาญ ไม่ก่อโรคไข้เลือดออก แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะการถูกยุงกัดย่อมไม่ดี ทางที่ดีที่สุดต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ไม่ว่ายุงลายหรือยุงรำคาญจะมีแหล่งเพาะพันธุ์ในพื้นที่น้ำขัง หากกำจัดลูกน้ำยุงได้ก็จะสกัดไม่ให้เติบโตเป็นยุงได้ด้วย

นพ.โอภาสกล่าวว่า แหล่งเพาะพันธุ์ ลูกน้ำของยุงรำคาญ ส่วนใหญ่จะพบตามท่อระบายน้ำ การจะไปกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ตามท่อระบายน้ำอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในทางปฏิบัติของครัวเรือนต่างๆ ทางที่ดีที่สุดคือ ป้องกัน ตัวเองไม่ให้ยุงกัด และต้องหมั่นตรวจสอบบริเวณบ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ หากมีต้องรีบทำลายเสีย สามารถปฏิบัติตัวง่ายๆ โดยใช้มาตรการ 5 ป. 1 ข. ดังนี้ 5 ป. คือ 1.ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ 2.เปลี่ยนน้ำแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำกลายเป็น ยุง 3.ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ในภาชนะใส่น้ำถาวร 4.ปรับปรุง ทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักยุงลาย 5.ปฏิบัติจนเป็นนิสัย ส่วน 1.ข คือ ขัดล้างไข่ยุงลายตามผนังภาชนะ นอกจากนี้ ยังได้ขอให้แต่ละครัวเรือนใช้ยาทากันยุงป้องกันยุงกัดด้วย นอกจากนี้ ยังมี 1 ท. คือ "ทายากันยุง"

"การพบยุงรำคาญในช่วงนี้ ยังไม่น่า กังวลมากนัก แต่ที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง คือ ในอีก 2 สัปดาห์ประเทศไทยจะเริ่มเข้า สู่ฤดูร้อน ช่วงนั้นยุงลายก็จะเริ่มมาด้วย และจะพบมากยิ่งขึ้นช่วงฤดูฝน แต่ช่วงฤดูร้อนก็ไม่ควรประมาท เพราะยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงประมาณ 150,000 ราย มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 132 ราย ในปี 2556 ถือเป็นปีที่พบโรคไข้เลือดออกมาที่สุดในรอบ 20 ปีทีเดียว ในปี 2557 แม้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะพบผู้ป่วยไม่มากประมาณกว่า 1,000 ราย คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีผู้ป่วยประมาณ 100,000 ราย แต่ก็ไม่ควรประมาท ต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นดีที่สุด" รองอธิบดี คร.กล่าว

นายวงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สาเหตุที่พบยุงชุมมากในช่วงนี้ นอกจากเป็นช่วงรอยต่อฤดูหนาวไปฤดูร้อน ยังพบว่า ปัญหาภัยแล้งมาเร็วมีส่วนสำคัญ ทำให้แหล่งน้ำลดระดับต่ำลง บางแหล่งมีน้ำแห้ง ขอด ช่วงที่น้ำค่อยๆ ลดลงจนจะแห้ง จะเป็น ช่วงเวลาที่ทำให้ยุงเติบโตได้ดี จึงทำให้ช่วงนี้ พบยุงชุมมากในบ้านเรือน และอีกช่วงที่ยุงจะชุม ก็คือฤดูฝน เป็นเรื่องปกติ เพราะมีน้ำขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง อย่างไรก็ตาม สำหรับยุงรำคาญ แม้จะก่อโรคไข้สมองอักเสบ แต่ไม่ใช่ว่าจะก่อโรคง่ายๆ เนื่องจากต้องนำโรคจากสัตว์ อย่างหมูที่ป่วยไข้สมองอักเสบนำมาแพร่สู่คน ในพื้นที่ กทม.ไม่เอื้อ ส่วนการป้องกันนั้น หลายคนต้องการให้ กทม.ไปฉีดพ่นสารเคมีฆ่ายุง ต้องเข้าใจก่อนว่าการฉีดพ่นสารเคมีจะฆ่ายุงได้ก็ต่อเมื่อถูกตัวยุง และจะฉีดในบริเวณบ้านของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ในกรณีนี้ยังไม่พบผู้ป่วย วิธีที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

"การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรำคาญ ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณท่อระบายน้ำ กทม.จะ ทำหน้าที่ลอกท่ออยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน อยากขอความร่วมมือประชาชน ให้ช่วยกัน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงด้วย โดยเฉพาะการเก็บขยะในแหล่งน้ำ ไม่ทิ้งขยะลงท่อ เพราะจะ ไปขวางทางน้ำ ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หากคนในชุมชนข่วยกันดูแลแหล่งน้ำ การ บำบัดน้ำในคลองด้วยอีเอ็มบอลหรือน้ำหมักจุลินทรีย์ ก็จะได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่สำคัญในฤดูฝน หากท่อระบายน้ำไม่ตัน ระบายน้ำดี ก็จะป้องกันการเกิดน้ำท่วมขังได้ด้วย" นายวงวัฒน์กล่าว

นางวนิดา วงส์เล็ก หัวหน้าศูนย์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก กองควบคุมโรค ติดต่อ สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ยุงรำคาญชอบน้ำสกปรกและเป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยใน พื้นที่กรุงเทพฯ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ได้ รับวัคซีนป้องกันขั้นพื้นฐาน แต่จะพบผู้ป่วยในต่างจังหวัดที่มีเกษตรกรเลี้ยงสุกรไว้ในบ้าน และไม่ได้ฉีดวัคซีนให้สุกร มักมีเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคไข้สมองอักเสบได้ หากยุงไปกัดสุกรแล้วมากัดคนก็ทำให้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวได้ ทางที่ดีที่สุดประชาชนควรดูแลตัวเองให้ดี พยายามอย่าให้โดนกัด แม้ว่าจะไม่ป่วยเป็นโรคไข้สมองอักเสบ แต่ยุงกัดแล้วทำให้เจ็บ รำคาญ คัน ก็รู้สึกไม่ดีเช่นกัน

นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ย สูง มีผลให้ลูกน้ำยุงลายฟักตัวเร็วขึ้น ทำให้ จำนวนยุงลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้การแพร่เชื้อของโรคไข้เลือดออกสูงขึ้น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันทำลายแหล่งเพาะ พันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ระบาดหนักเหมือนปี 2556 สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีรายงานจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวพบ ว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 20 กุมภาพันธ์ ปีนี้ มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 848 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดที่ จ.สงขลา 90 ราย ปัตตานี 86 ราย นราธิวาส 65 ราย พัทลุง 52 ราย ตรัง 34 ราย สตูล 14 ราย และยะลา 13 ราย

นพ.สุวิชกล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็น โรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มียุงลายบ้านเป็นพาหะ นำโรคมาสู่คน อาการของโรคไข้เลือดออกคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน และมีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบจุด เลือดออกที่ผิวหนัง ตับ และในบางรายที่มีอาการรุนแรง จะมีภาวะช็อก แทรกซ้อน เป็นเหตุให้ เสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจาก โรคไข้เลือดออก ด้วยการหมั่นทำลายแหล่ง เพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัยทุกๆ สัปดาห์ หลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้ยุงกัด และ หากมีอาการไข้สูงเกิน 2 วันให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่่ 3 มีนาคม 2557