มติชน - ปธ.ศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ 'มศว'จี้'เอ็นจีโอ'เสนอคำใหม่แทน'ปัญญาอ่อน'ด้วย แนะเปลี่ยน'เจตคติ-การปฏิบัติ'ดีกว่าใช้คำสวยหรู 'ราชบัณฑิต'พร้อมปรับคำศัพท์ใหม่ 'ภาวิช-พก.'แจงเลิกใช้นานแล้ว
จากกรณี น.ส.โรสซาลีน่า อเล็กซาน เดอร์ แมคเคย์ ประธานมูลนิธิเดอะเรนโบว์ รูม ระบุว่ามูลนิธิเดอะ เรนโบว์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และชมรมเมืองไทยเข้าใจ ออทิสติก ฉลองวันดาวน์ซินโดรมโลกวันที่ 21 มีนาคม ด้วยการเริ่มรณรงค์ให้สังคมไทยเลิกใช้คำว่า "ปัญญาอ่อน" (ป.ญ.อ.) ซึ่งเป็นคำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนคำอื่นๆ อาทิ โรคภาวะบกพร่อง ทางร่างกาย คนหูหนวก คนตาบอด เด็ก ออทิสติก เป็นต้น โดยขอให้ช่วยกันบัญญัติศัพท์ใหม่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเข้าใจในเชิงบวกแก่สังคมนั้น
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายอุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ราชบัณฑิต เปิดเผยว่า หากเห็นว่าการใช้คำว่าปัญญาอ่อนไม่มีความเหมาะสม และเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กลุ่มองค์กรเอกชนหรือภาคสังคม สามารถทำหนังสือเสนอมาที่สำนักราชบัณฑิตยสถานเพื่อให้นำเข้าหารือในกลุ่มนักภาษาศาสตร์ นักวิชาการ ว่าควรจะต้องเปลี่ยนคำอื่นที่สุภาพกว่ามาใช้แทนคำว่าปัญญาอ่อนหรือไม่ ซึ่งสำนักราชบัณฑิตยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ จากสังคม ทั้งนี้ คำว่าปัญญาอ่อนเป็นคำในกลุ่มจิตวิทยา และเป็นคำที่ใช้เข้าใจโดยทั่วไป แต่ปัจจุบันอาจจะมีการนำคำนี้มาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น นำคำมาใช้ต่อว่าบุคคลอื่น จึงทำให้สังคมอาจจะรับไม่ได้
น.ส.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า โดยคอนเซ็ปต์ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่ควรเสนอศัพท์คำใหม่มาเป็นทางออกให้กับสังคมด้วย ไม่ใช่เสนอแต่ปัญหา แต่ไม่มีทางออกให้ สังคมอาจต่อว่าได้ว่าว่างงานหรือเปล่า โดยหลักจึงมองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการเปลี่ยนคำ คือการปรับเปลี่ยนเจตคติ และการปฏิบัติ ของสังคมต่อคนกลุ่มดังกล่าวที่ดีขึ้น เพื่อให้ พวกเขามีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากกว่าการมาเปลี่ยนคำ เพราะหากเปลี่ยน คำให้สวยหรู แต่คนในสังคมยังปฏิบัติต่อคนกลุ่มดังกล่าวด้วยความไม่เข้าใจหรือดูถูก การเปลี่ยนคำก็ไร้ประโยชน์ ทั้งนี้ ต้องทำให้เหมือนการรณรงค์เปลี่ยนเจตคติของสังคมต่อกลุ่มคนป่วย เอชไอวี ที่ทำให้สังคมตระหนักรู้ต่อโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจได้ว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้กับคนกลุ่มนี้
"จะใช้คำไหนมาแทนคำว่าปัญญาอ่อน คนโง่ ภาวะบกพร่องทางร่างกาย คนตาบอด ฯลฯ ถ้าหามาได้ก็เป็นเรื่องดี เหมือนครั้งหนึ่งเราเปลี่ยนจากคำว่าคนแก่ คนวัยทอง มาเป็น คนสูงอายุ หรือคนสูงวัย ซึ่งทางจิตวิทยาถ้าใช้คำเชิงลบจะให้ความรู้สึกลบ แต่ถ้าใช้คำเชิงบวกจะให้ความรู้สึกบวก แต่คำถามคือได้เสนอ คำใหม่เป็นทางออกให้กับสังคมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ได้เสนอ ก็เท่ากับสร้างปัญหาแก่สังคม หรือคำใหม่ที่คิด ก็ต้องดูด้วยว่าได้รับการยอมรับหรือไม่ เพราะในอดีตบางคำที่ราชบัณฑิตฯคิดขึ้นมาแทนคำทับศัพท์ ก็ไม่ได้รับการยอมรับ และสังคมยังคงเรียกตามคำทับศัพท์เดิม" น.ส.จิตรากล่าว
นายภาวิช ทองโรจน์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า คำว่าปัญญาอ่อนนั้น ศธ.เลิกใช้มานานแล้ว ส่วนคำอื่นๆ ที่ทางมูลนิธิเสนอให้เปลี่ยนไปใช้คำอื่นนั้นยังคิดไม่ออกว่าควรใช้คำไหนดี ความจริงประเทศมีนักภาษาศาสตร์มากมาย ถ้าช่วยกันระดมความคิดเห็นแล้วหาคำที่ยอมรับกันได้โดยทั่วกัน ก็เป็นเรื่องดี
"ส่วนคำอื่นๆ อย่าง ภาวะบกพร่องทางร่างกาย คนพิการ หรือคำอื่นๆ นั้น ที่จะให้เปลี่ยนไปใช้คำอื่น ตอนนี้ยังไม่ได้คิด ความจริงคนที่เป็นภาวะเหล่านั้น เขาไม่ได้เดือดร้อน แต่คนไม่เป็นกลับเดือดร้อนแทน แต่ก็ไม่เป็นไร ทั้งนี้ คงต้องลองเสนอมา แล้วดูว่าจะใช้ได้หรือไม่ แต่ที่สุดราชบัณฑิตฯคงต้องเป็นผู้พิจารณาบัญญัติ เพราะหากให้แต่ละคนคิด ก็อาจมีความเห็นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาศัพท์ใหม่บางคำที่ราชบัณฑิตฯบัญญัติอาจไม่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะศัพท์เทคนิคทางวิชาการ ดังนั้น อาจต้องให้ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมาช่วยกันคิด" นายภาวิชกล่าว
วันเดียวกัน นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ที่ พก.มีการแบ่งอาการพิการเป็นหลายประเภท ซึ่งคำเรียกอาการพิการแต่ละประเภท ได้ หารือกับองค์กรคนพิการจนเป็นที่ยอมรับ แล้ว และที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเรื่องคำเรียก ส่วนการเรียกร้องให้เลิกใช้คำว่า "ปัญญาอ่อน" ยืนยันว่าที่ พก.ไม่ใช้คำนี้ เพราะใช้คำว่า "ความพิการทางสติปัญญา" และเมื่อแยกอาการความพิการต่างๆ จะมีคำเรียกความพิการที่เป็นที่ยอมรับสากล อาทิ ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม ซึ่งแต่ละคำได้แบ่งและบอกประเภทความพิการชัดเจนอยู่แล้ว
"คำว่าปัญญาอ่อนอาจหลุดมาทางคำพูด มากกว่าการแบ่งประเภทคนพิการตามเอกสาร ส่วนคำเรียกความพิการ เช่น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม เพื่อต้องการคัดแยกให้ตรงความผิดปกติ ซึ่งเป็นคำสากลที่คนเข้าใจกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าคำเรียกดังกล่าวไม่ดี หรือส่งผลกระทบทางจิตใจอะไร ก็สามารถเข้ามาพูดคุยและเสนอได้ เพราะหากมีคำที่ดีกว่า มีความหมายชัดเจน ไม่ต้องไปตีความอีก เราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงให้" นางนภากล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการหันมารณรงค์ให้สังคมไทยเลิกใช้คำว่า "ปัญญาอ่อน" ว่า จริงๆ แล้ว ในทางการแพทย์ นักวิชาการต่างๆ ไม่ได้ใช้ คำว่า "ปัญญาอ่อน" หรือ MR (mental retardation) มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่องค์การอนามัยโลก ยังใช้รหัสโรค MR อยู่ แต่เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสากล เนื่องจากสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช้คำดังกล่าว โดยทั้งหมดหันมาใช้คำว่า "ความบกพร่อง ทางสติปัญญา" (Intellectual Disabilities) แทน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแพทย์ผู้รักษาก็จะไม่ใช้คำว่าปัญญาอ่อนในการสื่อสารกับครอบครัวของเด็ก เนื่องจากเป็นคำที่ออกไปในทางลบ และดูกระทบกระเทือนจิตใจมากกว่า ยิ่งสังคมที่ผ่านมามักเอาคำนี้ไปใช้ด่า ตำหนิคน ซึ่งยิ่งไม่เหมาะสมเลย
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 4 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- ศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์
- โรสซาลีน่า อเล็กซาน เดอร์ แมคเคย์
- มูลนิธิเดอะเรนโบว์ รูม
- มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
- ชมรมเมืองไทยเข้าใจ ออทิสติก
- นดาวน์ซินโดรมโลก
- ปัญญาอ่อน
- ป.ญ.อ.
- โรคภาวะบกพร่องทางร่างกาย
- คนหูหนวก
- คนตาบอด
- เด็กออทิสติก
- อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์
- ราชบัณฑิต
- จิตรา ดุษฎีเมธา
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มศว
- ภาวิช ทองโรจน์
- ระทรวงศึกษาธิการ
- ศธ.
- นภา เศรษฐกร
- สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
- พก.
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- พม.
- พรรณพิมล วิปุลากร
- กรมสุขภาพจิต
- กระทรวงสาธารณสุข
- สธ.
- MR
- mental retardation
- ความบกพร่อง ทางสติปัญญา
- Intellectual Disabilities
- 1186 views