"ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยบอกกับผมว่า หมออนามัย คือผู้ที่จะปฏิรูประบบสุขภาพที่แท้จริง เพราะหมออนามัยคือ ผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด"
จากคำกล่าวของนายธาดา วรรธนปิยะกุล ประธานเครือข่ายมูลนิธิหมออนามัย ที่พูดถึงความสำคัญของหมออนามัย ที่มีการต่อสู้ที่ยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ เพื่อให้หมออนามัยได้รับการยอมรับทางสังคมและถูกต้องตามกฎหมาย
หลังจากที่มี พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ขึ้นมา ประธานเครือข่ายมูลนิธิหมออนามัย เล่าว่า การมีพ.ร.บ.วิชาชีพฯ ดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพหมออนามัยได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ทำให้พวกเขาเหล่านี้มีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น มีการทำงานที่มีระบบมาตรฐานที่ถูกต้องโดยมีกฎหมายรองรับ ส่งผลให้การทำงานของหมออนามัยมีศักยภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้งตัวบทกฎหมายได้ระบุขอบเขตของการทำงานของหมออนามัยที่ชัดเจนว่า งานอะไรบ้างที่หมออนามัยจะทำได้บ้าง อะไรที่ทำไม่ได้ ซึ่งจะได้มีการส่งต่อให้กับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพต่อไป ตรงนี้จะทำให้หมออนามัยทำงานได้ง่ายขึ้น มีระบบมากขึ้น ไม่ต้องมากังวลใจว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นจะมีผลกระทบด้านกฎหมายในภายหลังหรือไม่
"จากที่มีกฎหมายรองรับหมออนามัยขึ้นมาจะช่วยสร้างมาตรฐาน และความมั่นใจให้กับผู้ให้ และผู้รับบริการ" นายธาดา กล่าว
ปัจจุบันทั่วประเทศไทย มีหมออนามัยที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายมูลนิธิหมออนามัยกว่า 40,000 คน ที่ทำงานใน รพ.สต. มากถึง 9,570 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สำหรับการมีกฎหมายมารองรับบทบาทหน้าที่ของหมออนามัย ส่งให้มีการปรับทิศทางการทำงานของหมออนามัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องของการให้บริการ การทำงานในเชิงรุกและรับที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากการที่ไม่มีกฎหมายรองรับอย่างมาก
"หมออนามัยจะต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น หมออนามัยจะไม่มีหน้าที่แค่รักษาประชาชนในเบื้องต้นเท่านั้น หมออนามัยจะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการส่งเสริมสร้างสุขภาพของคนในชุมชนให้ปราศจากโรคภัย หรือพูดกันง่ายๆว่า หมออนามัยจะทำงานในเชิงของการป้องกันการเกิดโรคให้มากกว่าการตั้งรับเพียงอย่างเดียว"
หน้าที่ในวันนี้ของหมออนามัยได้เปลี่ยนไปจากอดีต ปัจจุบันต้องมีหน้าที่การทำงานในลักษณะเชิงรุกดังที่กล่าวมาข้างต้น เน้นงานหลักไปที่การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ดูแลด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในเบื้องต้น และหมออนามัยจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับความเจริญด้านการแพทย์ด้วย
นายธาดา กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมานับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เขาถึงระบบบริการด้านสุขภาพมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนจนได้มีสิทธิในการรักษาพยาบาลมากขึ้น
ถามว่า ในวันนี้อะไรคือ อุปสรรคของหมออนามัย ประธานเครือข่ายฯ บอกว่า การขาดแคลนบุคคลากรเป็นปัญหาหลัก ที่มีจำนวนจำกัดอยู่ ปัจจุบันใน 1 ตำบล หมออนามัย 4-5 คนจะต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ประมาณ 5,000 คน ซึ่งในความเป็นจริง หมออนามัย 1 คน จะดูแลประชาชนเพียง 1,000 คนนั้น ทำให้หมออนามัยในวันนี้ทำงานที่หนักมาก สิ่งที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้นั้นอยู่ในแผนการพัฒนาระบบสุขภาพ 5 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการเพิ่มสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ และในอนาคตรัฐบาลจะต้องมีการส่งเสริมด้านงบประมาณ บุคคลากร และวัสดุให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ที่จะทำหน้าที่หมออนามัย จะต้องมีความตื่นตัว และพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเองอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการดูแลประชาชน
ส่วนเรื่องการปฏรูประบบสุขภาพนั้น ธาดา เล่าให้ฟังว่า เขาเคยได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านเคยบอกว่า หมออนามัย คือผู้ที่จะปฏิรูประบบสุขภาพที่แท้จริง เพราะหมออนามัยคือ ผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ซึ่งตนก็เห็นด้วย เพราะหมออนามัยจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องของประชาชนในพื้นที่ได้ดีที่สุด เข้าใจความต้องการของประชาชนมากที่สุดเช่นกัน
"กำลังใจของผมในวันนี้ คือการที่ผมได้เห็นหมออนามัยได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยมีกฎหมายรองรับการทำงานของพวกเขา ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะทำงานมากขึ้น"นายธาดา กล่าวทิ้งท้าย
- 17 views