มติชน - เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยภายหลังชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเบิกจ่ายตรงสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานจ้างท้องถิ่น ว่า การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือ กองทุน สวัสดิการรักษาพยาบาล อปท.ที่ให้มีสิทธิเบิกจ่ายตรงเทียบเท่าข้าราชการสังกัดสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 และมอบให้ สปสช.ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน
"กองทุนนี้คำนวณอ้างอิงจากค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ 12,000 บาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันข้าราชการท้องถิ่นมีราว 2 แสนคน เมื่อรวมสมาชิกในครอบครัว คาดว่าจะประมาณ 7 แสนคน เบื้องต้นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้ที่ 7.061 ล้านบาท และได้โอนให้ สปสช.เพื่อดำเนินการ 4.061 ล้านบาท" เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่า จากการดำเนินงานภายหลังเริ่มกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาล อปท.ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากระบบเบิกจ่ายตรงไปยัง สปสช. 928 แห่ง แยกเป็นการเบิกจ่ายผู้ป่วยนอก 341,560 ครั้ง เป็นเงิน 342,061,381 ล้านบาท เบิกจ่ายผู้ป่วยใน 22,594 ครั้ง เป็นเงิน 400,810,316 ล้านบาท รวมจำนวนบริการ 364,154 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 742,871,697 ล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวยังถือว่ามีการเบิกจ่ายตรงที่น้อยมาก จึงขอให้ข้าราชการ และพนักงาน อปท. ลงทะเบียนเพื่อเบิกจ่ายตรงเพิ่มมากขึ้น
นพ.วินัยกล่าวอีกว่า ส่วนการเบิกจ่ายโดยใบเสร็จมีทั้งสิ้น 70,140 ใบเสร็จ เป็นเงิน 137.9 ล้านบาท สปสช.อนุมัติแล้ว 55.1 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบ ทั้งนี้ ข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงไม่ต้องสำรองจ่ายได้ เพียงแค่ลงทะเบียนผู้มีสิทธิกับ อปท.ที่สังกัดก่อนเท่านั้น เพื่อให้มีรายชื่อปรากฏในฐานทะเบียนของ สปสช.ไว้เป็นหลักฐานยืนยันเท่านั้น
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 17 views