แนวหน้า - แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย(สนอ.) กล่าวถึงการสำรวจสถานะสุขภาพของคนกรุงเทพมหานครในปี 2556 พบว่าโรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคเรื้อรังสูงสุดซึ่งพบถึงร้อยละ 14.22 อันดับ 2 คือ โรคเบาหวาน พบถึงร้อยละ 7.61 ของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ โดยโรคเบาหวานจะส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ที่อยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสื่อมเสียไป เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในระยะยาวที่อันตราย เช่น ไตวาย ตาบอด โรคหัวใจและหลอดเลือดสมองพิการ ชาปลายมือปลายเท้า เป็นต้น
โดยปัจจัยที่ทำให้เป็นเบาหวาน เช่น กรรมพันธุ์ น้ำหนักตัวมาก ขาดการออกกำลังกาย อาหารที่รับประทาน ซึ่งหากตรวจพบเป็นโรคเบาหวานแล้ว ควรจะรับการรักษาต่อเนื่อง โดยการรับประทานยา ออกกำลังกายควบคุมอาหารและน้ำหนักเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
ปัจจุบันสำนักอนามัยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวน 25,952 ราย อยู่ในการดูแลรักษาโดยศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง เชื่อมโยงการรักษากับระบบการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลผู้ป่วยที่ขาดการรักษาหรือควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้หรือส่งต่อไปโรงพยาบาล นำผู้ป่วยเบาหวานเข้ามาเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกัน ในปีนี้มีนโยบายขยายศักยภาพการตรวจคัดกรองค้นหาเบาหวานที่จอประสาทตาเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้รับการส่งต่อรักษาที่เหมาะสมป้องกันการสูญเสียการมองเห็นที่อาจตามมาในอนาคต โดยจัดให้มีรถตรวจจอประสาทตาเคลื่อนที่ให้บริการไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจตาครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคเบาหวานนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย, ญาติร่วมกับแพทย์และพยาบาลเป็นสำคัญ และอีกสิ่งที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนกรุงเทพมหานครร่วมกันดูแลสุขภาพโดยการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อร่วมกันสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งความสุข และมหานครแห่งความปลอดภัย ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557
- 24 views