พบคนไทยเป็นผื่นแพ้รุนแรงจากยาสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากมะกัน กรมวิทย์เร่งพัฒนาเครือข่ายศึกษาเภสัชพันธุศาสตร์หวังแก้ปัญหา ช่วยผู้ป่วยได้ยาที่มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล อาการข้างเคียงน้อย เผยการศึกษาระยะแรกพบปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมแพ้ยาต้านจุลชีพ ยากันชัก

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการศึกษาด้าน “เภสัชพันธุศาสตร์” เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการจัดยาตามลักษณะพันธุกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง แต่ผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อย ซึ่งขณะนี้กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวชปฏิบัติแล้ว ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเรื่องพันธุศาสตร์มีมานานแล้วในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ไม่อาจนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้กับคนไทยโดยตรงได้ เนื่องจากลักษณะพันธุกรรมแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาลักษณะพันธุกรรมของคนไทย และพัฒนาเครือข่ายการวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์เอง เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้ยาและผลข้างเคียงอื่นๆ ของยาที่พบได้บ่อยในไทย แล้วนำไปประยุกต์ในการให้บริการ การตรวจหาลักษณะพันธุกรรมในยีนที่มีความสำคัญทางคลินิก
       
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำรวจพบปัญหาผื่นแพ้รุนแรงจากการแพ้ยาชนิดที่มีการหลุดลอกของผิวหนัง (Stevens-Johnson Syndrome / Toxic Epidermal Necrolysis) ในไทยสูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ทำให้การศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ กรมวิทย์จึงมีโครงการความร่วมมือกับ Center for Integrative Medical Sciences สถาบัน RIKEN ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ดำเนินการร่วมวิจัยตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือในระยะที่ 3 นี้จะไปสิ้นสุด ในปี 2561 เพื่อสนับสนุนนักวิจัยไทยทั้งภายในกรมวิทย์และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำวิจัยเภสัชพันธุศาสตร์
       
นพ.อภิชัย กล่าวด้วยว่า การวิจัยและการให้บริการทางเภสัชพันธุศาสตร์ จำเป็นต้องมีการดำเนินการในรูปแบบเครือข่ายที่ประสานกันระหว่างโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วย ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. และนักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังนั้น กรมวิทย์ กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ โดยการใช้ยาเฉพาะบุคคลระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ 2557-2559 ได้จัดให้มีการประชุมการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสรุปผลการดำเนินการโครงการระยะที่ 1
       
“การดำเนินโครงการระยะที่ 1 พบปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมสำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านจุลชีพ Cotrimoxazole ยากันชัก Phenobarbital และอธิบายแนวทางการพัฒนาเทคนิควิธีการตรวจยีนเสี่ยงที่ได้จากผลจากการศึกษา ให้มีวิธีการตรวจที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของห้องปฏิบัติการในประเทศไทย เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว