กรุงเทพธุรกิจ - ครอบครัวยังคงเป็นสถาบันหลักที่เป็นรากฐานสำคัญของสังคม ทว่าสถิติการใช้ความรุนแรงในครอบครัวยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวในสังคมไทย ที่คู่สามีภรรยายังคงใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา จนนำไปสู่การฝังรากลึกของปัญหาความรุนแรงซ้ำซาก กลายเป็นสิ่งคุ้นชินและไร้ทางออก
การเสวนาเรื่อง"ผู้หญิงถูกทำร้ายที่ชื่อภรรยา" ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยนางวิสา เบ็ญจะมโน ประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล เปิดเผยข้อมูลความรุนแรงต่อสตรีทั่วโลกในปี 2556 จากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าร้อยละ30ของสตรีทั่วโลกต่างถูกคู่ของตนเองทำร้ายร่างกายและทำร้ายทางเพศ อีกทั้งคดีสังหารสตรีถูกกระทำโดยคู่ของตนเองกว่า 38 เปอร์เซนต์
สอดคล้องกับนางจิตราภา สุนทรพิพิธ อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล บอกถึงสถานการณ์ความรุนแรงต้องเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัวว่า ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ระหว่างปี 2553-2555 พบว่ามีจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงสูงถึงร้อยละ 35.31 สาเหตุหลักมาจากเมาสุราและยาเสพติดสูงถึงร้อยละ 43.38
นอกจากนั้นรายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ทุกๆ 15 นาทีทั่วโลก มีจำนวนผู้หญิงถูกข่มขืนถึง 20 ราย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ที่เชื่อว่าสามีทำร้ายภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
ขณะที่นายชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อธิบายถึงพฤติกรรมความรุนแรงโดยบอกว่าเป็นสิ่งที่เรียนรู้สืบต่อกันมา ซึ่งเกิดมาจากวัฒนธรรมเชิงอำนาจที่เชื่อว่าตนมีสิทธิควบคุมคนอื่นได้ ผู้ชายคิดว่าตนเป็นใหญ่ในครอบครัว และหากไม่มีการยับยั้งก็จะทำให้พฤติกรรมนั้นรุนแรงมากขึ้น
ด้านนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)ระบุว่าร้อยละ 61 ของผู้หญิงไทยเลือกที่จะทนอยู่กับความรุนแรง เพราะห่วงบุตรรักสามี และมีความคิดว่าสามีจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้ รวมถึงความเชื่อที่ฝ่ายหญิงมักถูกสอนมาฝ่ายเดียวว่าหนักนิดเบาหน่อยให้อดทน จึงทำให้ผู้หญิงไทยส่วนมากคิดว่าการกระทบกระทั่งกันในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงที่หันหน้าเผชิญกับปัญหาโดยการโต้ตอบสามี ซึ่งการโต้ตอบนั้นจะรุนแรงกว่าที่ถูกกระทำ บางกรณีถึงขั้นทำให้อีกฝ่ายเสียชีวิต เพราะเกิดจากความเครียดสะสมที่เป็นฝ่ายถูกกระทำซ้ำซากมาตลอด
ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีฯบอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติ สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด ต้องตัดความคิดที่ว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิงตั้งแต่ยังเด็ก ฉะนั้นครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงจนเกิดความสูญเสียน้อยลง
ขณะเดียวกันนางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือของรัฐยังขาดความพร้อมและไม่เข้าใจถึงปัญหา เช่น พนักงานสอบสวนที่มีทัศนคติไม่เข้าใจอารมณ์เหตุการณ์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง หรือไปตัดสินโดยใช้อคติทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าคุย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปิดใจรับฟังเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
" ตอนแรกๆที่ พ.ร.บ.การคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวออกมาใหม่ กฎหมายยังระบุไม่ชัดว่าบุคคลในครอบครัวคือใครบ้าง รวมภรรยาน้อยหรือกิ๊กรึเปล่า จึงทำให้เกิดบางกรณีที่ภรรยาน้อยถูกทำร้าย ไม่ว่าจะจากสามีหรือภรรยาหลวง พอเข้าไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ก็ถามเป็นภรรยาแบบไหนจดทะเบียนหรือไม่ พอบอกเป็นภรรยาน้อยเจ้าหน้าที่ก็ไม่ดูแล ช่วยเหลือเพราะอคติที่ว่าภรรยาน้อย เป็นคนไม่ดี"
ในประเด็นนี้ นายสาโรช นักเบศร์ อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า พ.ร.บ. การคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นประโยชน์มาก เพียงแต่ยังไม่สามารถบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากผู้ถูกกระทำเข้าถึงกระบวนการที่กฎหมายคุ้มครองน้อยมาก เพราะไม่รู้ว่ามีกฎหมายหรือไม่เข้าใจกฎหมาย ไม่กล้าเข้าหน่วยงานรัฐกลัวว่าครอบครัวจะมีปัญหาตามมา และไม่เชื่อมั่นว่าหน่วยงานจะช่วยเหลือได้จริงหรือไม่ เพราะหน่วยงานรัฐยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นได้
"ทางแก้ไขทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันรณรงค์ในสาระสำคัญของกฎหมายให้รู้ทั่วถึงและต่อเนื่อง หน่วยงานต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อศักยภาพของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐอบรมเจ้าหน้าที่ถึงกระบวนการทำงานในภาคปฏิบัติ รวมไปถึงสร้างทัศนคติที่ว่าเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นต้องกล้าเดินออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง" อัยการพิเศษฯกล่าว นายสาโรชยังบอกอีกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้เน้นเรื่องการลงโทษแต่เน้นคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำและปรับพฤติกรรมเพื่อให้กลับไปอยู่ในครอบครัวได้อย่างสงบ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิคนถูกกระทำเบื้องต้น 4 ประการ 1.ถ้าภรรยาไม่อยากกลับไปอยู่กับสามีแล้วห้ามฝืนใจ 2.พยายามรักษาสถานภาพการสมรส แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องยอม 3.เมื่อกลับไปอยู่ด้วยกันต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้ดำรงความเป็นครอบครัวได้
และ4.มาตรการปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัว ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เน้นไกล่เกลี่ยให้คู่สมรสกลับไปอยู่ด้วยกันหากไม่ได้รับความเต็มใจทั้ง 2 ฝ่าย
'ทุกๆ 15 นาทีทั่วโลก มีจำนวนผู้หญิงถูกข่มขืนถึง 20 ราย 'แต่ที่น่าเป็นห่วงคือประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ที่เชื่อว่าสามีทำร้ายภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้' จิตราภา สุนทรพิพิธ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557
- ผู้หญิงถูกทำร้ายที่ชื่อภรรยา
- สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- วิสา เบ็ญจะมโน
- อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล
- ความรุนแรงต่อสตรี
- องค์การอนามัยโลก
- WHO
- จิตราภา สุนทรพิพิธ
- ความรุนแรงในครอบครัว
- ชาญวิทย์ ทระเทพ
- กระทรวงสาธารณสุข
- สธ.
- สมชาย เจริญอำนวยสุข
- สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
- สค.
- สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
- พ.ร.บ.การคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
- สาโรช นักเบศร์
- สำนักงานอัยการสูงสุด
- 289 views