ข่าวสด - ภญ.จันทนา พัฒนเภสัช นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HiTAP) เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง ต้นทุนผลได้ของการตรวจกรองและวินิจฉัยก่อนคลอดของกลุ่มอาการดาวน์ในประเทศไทย โดยพบว่ากลุ่มอาการดาวน์มีความเข้าใจผิดว่ามักเกิดเฉพาะกับแม่อายุมาก แต่ผลการศึกษาที่น่าสนใจพบว่าร้อยละ 70-80 ของเด็กดาวน์ เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 35 ปี โดยประมาณการพบว่าในการตั้งครรภ์ 8 แสนราย จะมีโอกาสเกิดเด็กที่เป็นดาวน์ ประมาณ 1 พันราย โดยจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา 2.43 ล้านบาทตลอดชีวิต จากการวิเคราะห์ต้นทุนเปรียบเทียบ สถานการณ์จำลอง 4 แบบ คือ 1.ไม่มีการตรวจกรองและวินิจฉัย 2.ตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีเจาะน้ำคร่ำในหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปเท่านั้น 3.ตรวจคัดกรองทุกราย หากพบผลบวกจึงเจาะน้ำคร่ำ และ 4.ตรวจกรองก่อนคลอดในหญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี และวินิจฉัยก่อนคลอดด้วยการเจาะน้ำคร่ำในหญิงอายุ 35 ปี ขึ้นไป
ภญ.จันทนาเปิดเผยว่า ผลสรุปพบว่า แนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือ การที่หญิงตั้งครรภ์ทุกรายมีสิทธิ์ได้รับการตรวจกรอง หากผลตรวจเป็นบวกจะได้รับคำแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำ การตรวจกรองมีความคุ้มค่าทุกวิธี การเลือกวิธีต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความสามารถของห้องปฏิบัติการตรวจกรองและตรวจโครโมโซม งบประมาณที่ต้องใช้ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบ เช่น ผลลบลวงจากการตรวจกรอง การแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ เป็นต้น
ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 2 views