กรุงเทพธุรกิจ - สถานการณ์สุขภาพของคนไทยในช่วง10 ปีข้างหน้า เผชิญกับความท้าทายหลากหลาย ไม่เฉพาะพฤติกรรมการบริโภค และโรคติดต่อใหม่ๆ ที่จู่โจมเข้ามาถึงลมหายใจของเราเท่านั้น แต่ยังมีความผันผวนของสภาพอากาศที่เลวร้ายรุนแรง ทั้งฝน หนาว ร้อน แล้ง ล้วนเป็นปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สังเคราะห์สถานการณ์ระบบสุขภาพ เพื่อวาด "ภาพอนาคตระบบสุขภาพ" (Foresight Research) ในทศวรรษหน้า

อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า ที่ผ่านมา สช.ได้ระดมความคิดเห็นทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางกรอบและทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์สร้างสุขภาวะให้กับสังคมไทย ภายใต้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญ ในการสร้างหลักประกันและความคุ้มครองสุขภาวะที่ดีของคนไทย โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ชุมชนฐานราก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด ภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน

ข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด ทำให้เห็นภาพของระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ทุก 5 ปี ถึงกำหนดในปี 2557 เพื่อให้มีความสอดคล้องเท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคสวทน. กล่าวว่า กระบวนการคาดการณ์อนาคตจะทำให้ทราบแนวโน้ม โอกาส ภัยคุกคามและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า ช่วยในการวางกรอบและแนวทางของนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ให้กับภาคีที่เกี่ยวข้องภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการหรือวิชาชีพอื่นๆ ได้ชัดเจน

บริบทโดยรวมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประกอบด้วยหลายปัจจัย ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Climate changes) และภาวะโรคร้อน ทำให้มีการแปรปรวนของสภาพอากาศมากขึ้น มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่รุนแรง และพบได้ถี่ขึ้นส่งผลกระทบต่อความเสียหายที่สูงขึ้นตามมา หากไม่ได้มีการเตรียมระบบป้องกันและจัดการ

"สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ทำให้มีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นทั้งกับคนพืช และสัตว์ นำไปสู่การพัฒนาและใช้ยาหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ กับพืชและสัตว์ที่นำมาเป็นอาหาร รวมทั้งการใช้สารเคมีมากขึ้น"

ยาและเทคโนโลยีดังกล่าว อาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้บริโภค เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินความจำเป็น ทำให้โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา เป็นปัญหาสำคัญและมีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่การค้นพบสารชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะ ต้องใช้เวลานานขึ้นและการลงทุนมากขึ้น และยังกังวลว่าจะยังไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ใช้ในระยะอันใกล้

นอกจากนั้น ภัยธรรมชาติเช่นคลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุ ภาวะแห้งแล้ง แผ่นดินไหว ไฟป่า ดินถล่ม สึนามิอุกกาบาตตก จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นดังนั้น แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศ ทำให้ระบบสุขภาพมีความจำเป็นต้องปรับตัว

โดยเฉพาะการเตรียมการรับผลกระทบทางสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวรวมถึงการเตรียมตัวรับการเกิดภัยธรรมชาติและสาธารณภัยต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงานและราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงความจำเป็นในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ เพื่อการบริโภคและอุปโภคอย่างเหมาะสม

อีกปัจจัย คือ การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและระบบเศรษฐกิจแบบเปิดทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรอย่างไร้พรมแดน จึงมีโอกาสที่โรคติดต่อและแพร่ระบาด ไปยังส่วนต่างๆ ของโลกได้ง่ายขึ้นกลุ่มแรงงานข้ามชาติจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อต่างๆ ได้มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น

เนื่องจากไม่ได้รับบริการสาธารณสุขและสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเพียงพอขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อและขาดพฤติกรรมด้านสุขอนามัยที่ช่วยป้องกันโรค

ส่วนโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีแนวโน้มซับซ้อน มีความรุนแรงและควบคุมได้ยากขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุนให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ง่ายขึ้น อาทิ วิวัฒนาการของเชื้อก่อโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การปนเปื้อนของแหล่งน้ำ การอพยพย้ายถิ่น

อย่างไรก็ตามพบว่า ประชาชนเริ่มมีความตระหนัก ตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากภายนอกประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ ยังเป็นแรงกดดันเชิงบวกต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภายในประเทศด้วย

ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบต่อระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า ยังมีเรื่องของการเมืองและกฎหมาย , เศรษฐกิจ , สังคมและเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการระดมความคิดเห็นนำมาประมวลเป็นภาพอนาคตระบบสุขภาพไทย ได้เป็น 3 ภาพที่แตกต่างกันแต่ทับซ้อนกันในเรื่องปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบต่อสุขภาวะคนไทย ได้แก่

ภาพที่ 1. ภาพของ "ราษฎร์-รัฐ ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมผลักดันระบบสุขภาพ" ที่เสนอแนะว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องหันมาร่วมกันปฏิรูประบบสุขภาพทั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ

ภาพที่ 2. ภาพของ "ระบบสุขภาพของใคร (ของมัน) ดั่งฝันที่ไกลเกินเอื้อม"ที่มองว่าความเหลื่อมล้ำ การคอร์รัปชันการใช้ทรัพยากรที่ไม่สมดุล ภาคเกษตรถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ อาจทำให้ระบบสุขภาพของคนไทยถอยหลังลงคลองต้องการการตัดสินใจอย่างเร่งด่วน

ภาพที่ 3. ภาพ "ในเงามือที่ทาบทา ระบบสุขภาพยังยืนหยัด" ที่กล่าวถึงภัยคุกคามของหลายๆอย่าง อาทิ การเมืองที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสุขภาพมากกว่าเดิม ความรุนแรงของภัยธรรมชาติ การใช้สารเคมีเกษตร และการใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง การวิจัยและพัฒนาที่ควรมุ่งตอบสนองการเกษตรที่สมดุล มากกว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว

ภาพของระบบสุขภาพในทศวรรษหน้าจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ทุกคนต้องหันมามองเพราะปัจจัยลบเริ่มเข้ามาใกล้ตัวทุกขณะแม้แต่สภาพอากาศที่ประเทศไทยไม่เคยพบก็เกิดปรากฏการณ์ขึ้นมาแล้ว ไม่นับรวมโรคร้ายที่จะอุบัติใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์ได้ยากว่าจะรุนแรงแค่ไหน

'สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกทำให้มีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นทั้งกับคน พืช และสัตว์ นำไปสู่การใช้ยาหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ กับพืชและสัตว์ที่นำมาเป็นอาหาร รวมทั้งการใช้สารเคมีมากขึ้น'

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557