กรุงเทพธุรกิจ - กลุ่มโรงพยาบาลเสี่ยงกำไรหดผู้บริหารยอมรับผู้ป่วยต่างชาติลดลง20% โบรกเตรียมปรับลดน้ำหนักการลงทุนเหลือเท่าตลาด
โบรกเกอร์ประเมินกลุ่มโรงพยาบาล แนวโน้มรายได้ลดจากผลกระทบการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ดึงยอดใช้บริการผู้ป่วย ต่างชาติลดลง 10-20% จากปีที่แล้ว ระบุ ชุมนุมรอบนี้ส่งผลลบมากกว่าปี 2553 พร้อมปรับลดน้ำหนักการลงทุนเหลือ เท่าตลาด ด้านบางกอกเชนฯ ยันโรงพยาบาลไม่กระทบ เหตุไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชุมนุม
นักวิเคราะห์บล.เคจีไอ กล่าวว่าฝ่ายวิจัยได้ปรับลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจากมากกว่าตลาดเหลือเท่ากับตลาด เนื่องจากสภาวะของธุรกิจโรงพยาบาลกำลังเผชิญกับปัจจัยกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค ถึงแม้ฝ่ายวิจัยจะปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มโรงพยาบาล ก่อนนักวิเคราะห์คนอื่นในตลาด แต่นั่นเป็นเพราะเห็นว่า ธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชน จะได้รับผลกระทบทางลบจากความวุ่นวายทางการเมืองรอบล่าสุดรุนแรงกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้
เขากล่าวว่า การชุมนุมรอบนี้ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มโรงพยาบาลมากกว่าครั้งที่มีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในปี 2553 หลังจากที่ได้คุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลและไปเยี่ยมชมธุรกิจของโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง เพราะรอบนี้ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยต่างชาติที่หลีกเลี่ยงไม่มารักษาตัวที่กรุงเทพฯ แต่หลีกเลี่ยงไม่มาไทยเลย โดยผู้บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เปิดเผยว่า มีจำนวนผู้ป่วยต่างชาติลดลง 10-20% จากปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับอัตราการลดลงของผู้ป่วยต่างชาติในช่วงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง โดยโรงพยาบาลในเครือ ซึ่งตั้งอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต และพัทยา ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
นอกจากนี้พื้นที่การชุมนุมมีการกระจายรอบกรุงเทพฯ มากกว่าการชุมนุมของกลุ่ม เสื้อแดง ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อโรงพยาบาลหลายแห่งมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ซึ่งมีโรงพยาบาลใน เครือประมาณ 30 แห่ง ถ้าการประท้วงจบ ลงได้ภายในอีก 1-2 เดือนกำไรของกลุ่ม น่าจะลดลง 3-4 % จากประมาณการที่ประมาณการไว้ 9%
อัตราการเติบโตของรายได้กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยแรกที่เข้ามาฉุดให้อัตราการเติบโตของรายได้กลุ่มโรงพยาบาลชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปี 2656 คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โรงพยาบาลระดับ high-end ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเครือกรุงเทพดุสิต เวชการ และเครือบำรุงราษฎร์ (BH) ผู้ป่วยเริ่มเปรียบเทียบราคาค่ารักษาและเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลที่ถูกกว่าในช่วงที่สถานการณ์ ไม่แน่นอน ปัจจัยถัดมาเกิดขึ้นไตรมาส 4 ปี 2556 ก็คือความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ ไม่เพียงแต่กระทบจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรุงเทพฯ แต่กระทบกับจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย
"เราจึงปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของรายได้กลุ่มโรงพยาบาลในปี 2556 ลงอีกจาก 12% เหลือ 10% และลดจาก 10% เหลือ 9% ในปีนี้"
ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของกรุงเทพดุสิตเวชการ และบำรุงราษฎร์ ลงอีก 5-9% ซึ่งหลังจากที่ปรับลดประมาณการลงแล้ว การเติบโตของกำไรกลุ่มโรงพยาบาลดูไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป เพราะใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของดัชนีหุ้น ซึ่งอยู่ที่ 7-8% ยังคงแนะนำให้ซื้อบำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม ในขณะที่ปรับลดคำแนะนำหุ้นกรุงเทพดุสิตเวชการจาก "ซื้อ" เป็น "ถือ"
นายเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทไม่ได้รับผล กระทบจากการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ เพราะโรงพยาบาลในเครือแต่ละแห่งไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ที่เป็นจุดชุมนุม จึงยังคงมีผู้ป่วยมารักษาอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการยอมรับว่ารายได้ในปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่งผลให้มีผู้ป่วยทั้งชาวต่างชาติและคนไทย มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง แต่บริษัทยังมีสาขาจำนวนมากในประเทศ ซึ่งจะทำให้รายได้น่าจะเติบโตไปในทิศทางที่ดีได้ ทั้งนี้ลูกค้าของบริษัทเป็นชาวต่างชาติสัดส่วน 25% และคนไทย 75%
ขณะเดียวกัน ได้ปรับกลยุทธ์ขยายสาขาโรงพยาบาลทั้งในประเทศ และแถบอาเซียน จากเดิมที่มีแผนขยายสาขา 50 แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 และเลื่อนระยะออกไปอีก 3-4 ปี สำหรับสาขาที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง เช่น ในประเทศกัมพูชา เพื่อรอดูสถานการณ์เหตุการณ์ซ้ำซ้อนทางการเมือง และใน จ.ขอนแก่น ที่รอดูสถานการณ์การเมืองในประเทศ แต่ยังคงเป้าขยายสาขาไว้เท่าเดิม ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลทั้งหมด 32 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งบริษัทจะเปิดโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้บริการในปีนี้อีกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ที่จ.พิษณุโลก จ.เชียงใหม่ และไชน่าทาวน์
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 มกราคม 2557
- 11 views