ประชาชาติธุรกิจ - ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคมของทุกปี ถือเป็นวันรณรงค์วันโรคเรื้อนโลก ซึ่งในปี 2557 ตรงกับวันที่ 26 มกราคม แม้ว่าปัจจุบันพบประชาชนคนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อนน้อยลงมาก ก็ตาม แต่ปัจจัยการย้ายถิ่นฐานที่อยู่ของแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ในการเข้ามาทำงานในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้งการเปิดเสรี AEC ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายของโรคได้มากขึ้น
โรคเรื้อนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรังที่ผิวหนังและเส้นประสาท ส่วนปลาย มีระยะฟักตัว 2-12 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคผู้ป่วยโรคเรื้อนชนิดรุนแรงที่มีผื่นทั่วตัวและยังไม่ได้รักษา เป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ สามารถแพร่กระจายจากร่างกายผู้ป่วยทางลมหายใจและบาดแผลที่ผิวหนัง ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น คนในครอบครัวเดียวกัน มีโอกาสติดเชื้อมากที่สุด แต่คนทั่วไปส่วนมากมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อเชื้อโรคเรื้อนอยู่แล้ว ภูมิต้านทานจะกำจัดเชื้อโรคเรื้อนจนหายไปเอง คนที่ได้รับเชื้อส่วนมากจึงไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อน
เชื้อโรคเรื้อนมักทำลายผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย จึงทำให้เกิดผื่นผิวหนังและการทำลายของเส้นประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยโรคเรื้อนมักมีอาการเริ่มแรก คือมีผื่นสีขาวหรือสีแดง ผื่นจะแห้งเป็นขุย และชา หยิกไม่เจ็บ เส้นประสาทที่อยู่ใกล้กับผื่นอาจบวมโตขึ้น อาจมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามบริเวณมือและเท้าที่เส้นประสาทนั้นหล่อเลี้ยง ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดผื่นนูนแดงทั่วตัว ผื่นไม่ปวด ไม่ชา ไม่คัน เส้นประสาทโตหลายเส้น มือชา ขึ้นมาถึงศอก เท้าชาขึ้นมาถึงเข่า ถ้าป่วยเป็นโรคเรื้อนมาหลายปี อาจทำให้ขนคิ้วร่วง จมูกยุบ กล้ามเนื้อมือเท้าลีบ เกิดบาดแผลตามมือเท้าที่ชา
ผื่นผิวหนังในผู้ป่วยโรคเรื้อนอาจดูคล้ายโรคกลาก, เกลื้อน, ลมพิษ, ผื่นแพ้ยา แต่ผื่นโรคเรื้อนมักเป็นมานานหลายปี และมีอาการชา ไม่คัน ถ้าพบความผิดปกติต่อไปนี้ให้นึกถึงโรคเรื้อน ได้แก่ มีผื่นผิวหนังชา หยิกไม่เจ็บ มีก้อนบวมตามใบหน้าและใบหู มือเท้าชา เป็นบาดแผลที่ไม่เจ็บปวดได้ง่าย
โรคเรื้อนรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฎิชีวนะหลายชนิด ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อนชนิดไม่รุนแรง มีผื่นไม่เกิน 5 แห่ง สามารถรักษาได้ด้วยยาไรแฟนปิซินและ แดปโซน 6 เดือน
ปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เพิ่งเริ่มเป็นและยังไม่มีความพิการ เมื่อรักษาแล้วจะหายไม่เหลือร่องรอยของโรคเรื้อน
คนที่มีอาการน่าสงสัยหรือเป็นโรคเรื้อนสามารถรับการรักษาได้ที่ โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง และคนที่เป็นโรคเรื้อนก็สามารถอยู่กับครอบครัวได้ตามปกติ เพราะผู้ที่เป็นโรคเรื้อนเมื่อได้กินยารักษาในสัปดาห์แรกก็จะไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 - 26 ม.ค. 2557--
- 133 views