ไทยรัฐ - นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ร้อยละ 10 ของคนเมือง มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการทำงาน คือ มีอิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น นั่งหลังค่อม ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ และยังส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือและสายตา นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมาอีก เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวานและความดัน เป็นต้น ส่วนอาการในด้านอารมณ์ คือ หงุดหงิดง่าย สนใจแต่เฉพาะเรื่องของการทำงาน จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงานและครอบครัว

นพ.สุพรรณกล่าวต่อว่า หากมีอาการดังกล่าวสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยปรับพฤติกรรมลดความเครียดจากการทำงานให้มีความพอดี ด้วยการใช้เวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน และควรผ่อนคลายในระหว่างการทำงาน ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในการทำงานโดยเปิดหน้าต่างสำนักงานให้อากาศได้ระบายอย่างน้อยในตอนเช้าที่อากาศยังไม่ร้อนมาก และตอนพักกลางวันควรปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อลดระยะเวลาในการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจะต้องเงยหน้าขึ้นมองออกไปไกลๆ ทุก 20 นาที เพื่อบรรเทาความเมื่อยล้าของสายตา ห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงานเพราะจะทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและส่งผลเสียต่อสุขภาพของตนเองและผู้ร่วมงาน.

ที่มา: http://www.thairath.co.th