มติชน - เป็นเวลา 11 ปี กับโอกาสที่คนไทยทุกคนได้รับบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า.. แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่ามีสิทธิในการรักษาตั้งแต่เกิด เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน ไม่ใช่การสงเคราะห์... เพราะที่ผ่านมา หลายคนไม่ทราบว่า มีสิทธิในการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคยากๆ ทำให้เสียโอกาสในการรักษาอย่างน่าเสียดาย
อย่างกรณีของ คุณวิภาวัลย์ คีรีโชติ อายุ 68 ปี เป็นหนึ่งในผู้ป่วยผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งป่วยด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แต่ก่อนหน้านี้ได้รักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แม้จะทราบว่ามีสิทธินี้อยู่ แต่ไม่มั่นใจว่าจะรักษาโรคนี้ได้ และเข้าใจมาตลอดว่าหากใช้สิทธิของรัฐ อาจมีขั้นตอนยุ่งยาก
"เมื่อป่วยเป็นโรคหัวใจ ตอนแรกๆ ก็รักษาที่โรงพยาบาลเอกชน มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จนกระทั่งวันหนึ่งต้องผ่าตัด ซึ่งหากค่าใช้จ่ายธรรมดาในโรงพยาบาลรัฐที่ไม่ได้ใช้สิทธิยังประมาณ 4 แสนบาท แล้วโรงพยาบาลเอกชนจะมากแค่ไหน ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคจะครอบคลุมการผ่าตัดราคาแพงแบบนี้ จนมาทราบจากหลานว่า สามารถรักษาได้จริง แต่แรกๆ ก็ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะคิดว่า ขั้นตอนการใช้สิทธิอาจยากก็ได้" คุณวิภาวัลย์กล่าว และว่า เนื่องจากการใช้สิทธิต้องรักษาที่โรงพยาบาลละแวกที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งขณะนั้นอยู่ จ.กาญจนบุรี แต่ตัวเองอาศัยกับลูกที่กรุงเทพฯ โชคดีเมื่อแจ้งความจำนง และไปรักษาที่โรงพยาบาลทรวงอก จึงขอย้ายมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลทรวงอกแทน โดยหลังจากผ่าตัดช่วงปี 2551-2552 กระทั่งปัจจุบันอาการดีขึ้น แม้ต้องรับยาต่อเนื่องก็ตาม
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่แม้จะทราบว่า มีสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก็ไม่มั่นใจถึงการรักษา อย่างไรก็ตาม สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้ให้บริการต่อโครงการ
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2556 : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบุคลากรผู้ให้บริการ ในหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก 13 จังหวัดจำนวน 2,730 คนทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 70.2 เข้าใจว่าสิทธิดังกล่าวเป็นโครงการสงเคราะห์ของรัฐบาล มีเพียงร้อยละ 29.8 เป็นสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ขณะที่ร้อยละ 84.2 ทราบว่า การเข้ารับบริการสาธารณสุข ของผู้มีสิทธิจะต้องติดต่อใช้บริการที่โรงพยาบาลประจำของตัวเอง แต่ร้อยละ 15.8 ไม่ทราบถึงเรื่องดังกล่าว
ขณะที่แหล่งที่ได้รับข่าวสารจากการรับรู้สิทธินั้น พบว่าอันดับหนึ่งคือ สื่อโทรทัศน์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นต้น
เรื่องนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับว่าประชาชนยังไม่ทราบว่า 30 บาท รักษาทุกโรคเป็นสิทธิพื้นฐาน เห็นได้จากผลสำรวจที่ทราบว่าเป็นสิทธิของตนเองไม่ถึง ร้อยละ 30 ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคไม่ทราบสิทธิของตนเอง และมองว่าเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ก็จะทำให้ส่งผลต่อการเข้าถึง รวมถึงการไปกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพราะคิดว่า เมื่อสงเคราะห์ โรงพยาบาลก็จะรับ ทำให้เห็นภาพความแออัด และไม่ไปสู่การดูแลตัวเองจริงๆ ขณะที่คนป่วยโรคร้ายแรง ส่วนหนึ่งก็คิดว่า ระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ครอบคลุมโรคเฉพาะทาง เพราะเข้าใจว่าเป็นระบบสงเคราะห์ผู้ป่วยที่มีโรคทั่วไปมากกว่า ทำให้เสียโอกาสการรักษาโดยปริยาย
"สปสช.มีการหารือว่าจะเร่งทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิพื้นฐานนี้ให้แก่ประชาชนทุกคนทราบอย่างแท้จริง โดยในปี 2557 จะต้องทำให้ประชาชนรับทราบว่าสิทธิรักษาเป็นเรื่องพื้นฐาน ไม่ใช่สงเคราะห์ โดยตั้งเป้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 จากร้อยละ 29.8 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 32.8 ในปี 2557 โดยจะมีการหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข ในการให้ อสม.เข้ามามีบทบาทเรื่องนี้ กระจายข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะเดียวกัน ก็จะขอความร่วมมือกับทางข้าราชการท้องถิ่น โดยเฉพาะในกองทุนข้าราชการท้องถิ่น/อปท. ที่ สปสช.บริหารกองทุนอยู่ เข้าช่วยกระจายข้อมูลอีกทาง" นพ.วินัยกล่าว
ขณะที่ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข แนะว่า การจะทำให้คนเข้าใจว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิพื้นฐาน ต้องทำทุกสิทธิ เพราะจะทำเพียงสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเดียว เป็นเรื่องยาก การจะคลี่คลายปัญหาจริงๆ คือต้องทำให้ทุกสิทธิอยู่รวมกัน หรือรวมสามกองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
การจะทำให้คนเข้าใจว่าสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นสิทธิพื้นฐาน
สิ่งสำคัญต้องพัฒนาระบบการบริการต่อ ผู้ป่วยทุกคนให้เท่าเทียม
อย่าทำให้เกิดความคิดว่ามาโรงพยาบาลรัฐ บริการแย่กว่าเอกชน จนเกิดคำถามว่า เป็นการสงเคราะห์หรือ
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 12 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 3320 views