Hfocus – แม้มีพ.ร.ฏ.ยุบสภาฯไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งหาผู้เหมาะสมมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศคนใหม่ แต่การประท้วงก็ยังคงยืดเยื้อไม่จบสิ้น เกิดความเห็นต่างทางการเมืองที่ต่างกันสุดขั้ว คือขั้วที่สนับสนุนให้จัดการเลือกตั้งตามกำหนดระยะเวลาคือ 2 ก.พ. 2557 กับอีกกลุ่มที่สนับสนุนให้ทำการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองเสียก่อน โดยระบุว่า ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่จบ ด้วยความเห็นต่าง วันนี้ทำให้มีหลายฝ่าย หลายกลุ่ม ออกมาเสนอแนวทาง รวมไปถึงแวดวงสาธารณสุขที่ต่างตบเท้าออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ทางการเมืองกันหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชมรมแพทย์ชนบทที่ออกหน้าเต็มตัว หนุนเสริมกปปส.เต็มที่ ยังมีกลุ่มประชาคมสาธารณสุขที่หนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และกลุ่มผู้บริหารกรมสาธารณสุขที่มีแถลงการณ์เดินหน้าเลือกตั้ง เช่นเดียวกับความเห็นของชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข

ฟากของกลุ่มประชาคมสาธารณสุข ซึ่งประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมต่างๆ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสหวิชาชีพ 16 ชมรม ได้ออกแถลงการณ์ 3 ฉบับ ซึ่ง 2 ฉบับแรกยังมีความกำกวม ไม่ชัดเจนว่าจะฟันธงอย่างไร ยังกั๊กๆไว้อยู่ จนกระทั่งถึงฉบับที่ 3 จึงได้ชัดเจนกับเค้าเสียทีว่า ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

โดยไล่เลียงความเป็นมาดังนี้ ประชาคมสาธารณสุข ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2556 เรียกร้อง 4 ข้อ โดยสาระสำคัญคือต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง โดยให้มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน จากนั้นเมื่อถึงการเลือกตั้งก็ต้องมีการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งให้มีความยุติธรรม วางระบบตรวจปฏิรูปการเมืองระยะยาว โดยเฉพาะกลไกตรวจสอบเรื่องทุจริตคอรัปชั่น และสุดท้ายได้เรียกร้องให้มีการสร้างกลไกของประชาคมสาธารณสุขเพื่อติดตามการปฏิรูปให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ก่อนจะออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ตามมาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. หลังจากการชุมนุมชักจะบานปลาย โดยต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. และรัฐบาลหันหน้ามาเจรจากัน พร้อมทั้งเร่งเร้าให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาทำการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

และล่าสุดกับการออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และให้รัฐบาลลาออกโดยทันที โดยระบุว่า เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นกลางและยุติธรรม

ในช่วงระหว่างแถลงการณ์ฉบับที่ 1 กับฉบับที่ 2 ของประชาคมสาธารณสุข ปรากฏว่ามีแถลงการณ์อีก 1 ฉบับออกมาในนามของผู้บริหารกรม ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. สั้นๆ ด้วยข้อเรียกร้องเพียง 2 ข้อคือสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามกำหนด โดยให้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรอิสระ ช่วยกันตรวจสอบ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมและโปร่งใส เป็นที่น่าสังเกตว่าแถลงการณ์ฉบับผู้บริหารกรมข้อเรียกร้องที่แตกต่างไปจากฉบับของประชาคมสาธารณสุขที่เรียกร้องให้มีการการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ก็มีชื่ออยู่ในแถลงการณ์ทั้ง 2 กลุ่ม

ถามไถ่นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ก็ไม่ตอบคำถามถึงข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกันเองในแถลงการณ์ บอกแค่ว่าตอนนั้นต้องการมาแสดงจุดยืนให้เห็นว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการมาต้องเป็นไปตามแนวทางที่เหมาะสม แต่ยืนยันหนักแน่นว่า ตอนนี้ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ในส่วนของกระทรวงฯ และทุกกรมในสังกัดต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด กรมก็ทำหน้าที่ตามที่ปลัด สธ.มอบหมาย และแม้ว่าจะมีการออกแถลงการณ์มาก็ไม่ได้กระทบกับการทำงาน เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นกลาง กรมก็มีความเป็นกลาง ไม่เลือกข้างฝ่ายหนึ่งใยใดแน่นอน ที่สำคัญคือการทำงานจะยึดประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มเป็นที่ตั้ง และทำให้ดีที่สุด

“แต่ละกรมก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด กระทรวงก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ถือว่าทุกคนทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยหลักการคือทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนเป็นหลัก เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องการเมืองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน” นพ.สุพรรณ กล่าว 

อีกด้านหนึ่งก็มีแถลงการณ์ของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน คือ ชมรมอาสาสมัครด้านสาธารณสุข ซึ่งมี นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ เป็นประธาน ได้ออกแถลงการณ์ในนามของชมรมฯ เพื่อสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้กับประชาชน โดยพร้อมที่จะเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม ทั้งนี้นายไพฑูรย์ บอกว่า ที่ชมรมต้องออกแถลงการณ์เนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มประชาคมสาธารณสุข เลยต้องออกมาแสดงจุดยืนในนามของชมรมฯ แทน

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ย่อมไปสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่ แต่นายไพฑูรย์ ก็ยืนยันว่า ทางชมรมวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง และจะไม่เอาองค์กรเข้าไปยุ่งกับเรื่องการเมือง เราไม่ได้อยู่ทั้งฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา แต่ “สนับสนุนระบบประชาธิปไตย” และทำงานเพื่อดูแลสุขภาพภาคประชาชนที่ดูแลพี่น้องในชุมชนตามปกติ ใครจะอยู่สีไหน ใครจะไปอยู่ฝั่งไหน ก็ดูแลกันด้วยใจอยู่ดี

“วันนี้เราดูจากหมู่บ้าน จากชุมชนที่เราอยู่พบว่ามันเกิดกระบวนการความแตกแยกในชุมชน เราไม่พึงประสงค์กับเรื่องอย่างนี้ เพราะว่าแนวคิดของแต่ละกลุ่ม แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันก็ยังเกิดข้อพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ก็ยุติ สงบแล้วหาทางแก้ไขกันว่าจะทำอย่างไรกันไป มันเป็นอย่างนี้ คือความขัดแย้งในชุมชนถึงจะมีความเห็นต่างอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา อย่างดีก็แค่เถียงกัน แสดงความคิดเห็นกันแต่ไม่รุนแรง จากนั้นก็แยกย้ายกันไป เรารู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร เขาชอบอย่างนั้น เราชอบอย่างนี้ ต่างคนต่างก็ชอบกันไปและเคารพซึ่งกันและกันจะเป็นอย่างนี้” นายไพฑูรย์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

"ประชาคมสาธารณสุข" แถลงการณ์เสนอตั้งองค์กรปฎิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง

ประชาคมสธ.ย้ำไม่เลือกข้าง

บิ๊กสธ.ออกแถลงการณ์ หนุนเลือกตั้ง 2 ก.พ.

ประชาคมสธ.แถลงการณ์ ฉ.3 ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จี้รัฐบาลลาออกทันที ยันไม่ร่วมทำงานด้วย