สธ.เผยกู้ชีพช่วยชีวิตผู้บาด เจ็บ-ป่วยกว่า 2 หมื่นคนช่วง เทศกาลปีใหม่ ปภ.สรุป 7 วัน ตาย 366 ศพ
เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 ประจำวันที่ 3 มกราคม 2557 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ "ปีใหม่สัญจรปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 283 ครั้ง (ปีใหม่ 2556 เกิด 293 ครั้ง) ลดลง 10 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 32 ราย (ปีใหม่ 2556 ผู้เสียชีวิต 34 ราย) ลดลง 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 304 คน (ปีใหม่ 2556 ผู้บาดเจ็บ 293 คน) เพิ่มขึ้น 11 คน
"สาเหตุเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 32.86 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.62 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.77 รถปิกอัพ ร้อยละ 8.22 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 21.43 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.72 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 39.58 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 16.01-20.00 น. ร้อยละ 30.04 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 47.01 กลุ่มเด็กและเยาวชน ร้อยละ 26.19 สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 16 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดนครสวรรค์ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดนครสวรรค์ 16 ราย" นายจารุพงศ์กล่าว
นายจารุพงศ์กล่าวอีกว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 27 ธันวาคม 2556 - 2 มกราคม 2557) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,174 ครั้ง (ปีใหม่ 2556 เกิด 3,164 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 10 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 366 ราย เท่ากับปีใหม่ 2556 ผู้บาดเจ็บรวม 3,345 คน (ปีใหม่ 2556 ผู้บาดเจ็บ 3,329 คน) เพิ่มขึ้น 16 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.71 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 25.83 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.03 รถปิกอัพ ร้อยละ 8.50
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 22.39 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.50 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.08 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.03 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 28.48 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 56.59 กลุ่มเด็กและเยาวชน ร้อยละ 23.52
"สำหรับจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วัน รวม 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ ตราด ปัตตานี และพังงา จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 127 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 21 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 137 คน" นาย จารุพงศ์กล่าว
นายจารุพงศ์กล่าวต่อว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 พบว่าจำนวนครั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บใกล้เคียงกับสถิติปีใหม่ 2556 โดยมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ทั้งการเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ซึ่งรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขณะที่กลุ่มวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ศปถ.จะกำหนดมาตรการคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่อย่างเข้มข้น เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ บทลงโทษ พร้อมรณรงค์สร้างความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ควบคู่กับการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554-2563 ที่มีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี พ.ศ.2563
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ศปถ.จะนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 มากำหนดมาตรการและวางแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความรู้และปลูกจิตสำนึกด้านให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความรู้และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน มุ่งบูรณาการทุกภาคส่วนรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เน้นดำเนินการในกลุ่มผู้ใช้แรงงานตามสถานประกอบการ จัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงผลักดันกลไกการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับมาตรการทางสังคมให้มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากลและให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
วันเดียวกัน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงผลสรุปการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉิน ช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2556 - วันที่ 2 มกราคม 2557 ว่า ตลอด 7 วันทีมกู้ชีพฉุกเฉินจากโรงพยาบาลประมาณ 1,000 แห่ง ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกปฏิบัติการ 22,848 ครั้ง ให้บริการภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานได้ร้อยละ 77 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 23,261 ราย มากที่สุดเป็นอุบัติเหตุทั่วไป 11,234 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงมาคืออุบัติเหตุจราจร 8,407 ราย คิดเป็นร้อยละ 36 ที่เหลือเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินทั่วไป เช่น ปวดท้อง โรคเบาหวานกำเริบ โดยขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 รวม 16,976 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 73 โดยหน่วยปฏิบัติการที่ออกรับผู้ป่วยเป็นระดับทีมกู้ชีพชั้นสูง (ALS) ร้อยละ 16 ระดับพื้นฐาน (BLS) ร้อยละ 19 และระดับฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ร้อยละ 64
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาว ทั้งสิ้น 36 จังหวัด สำนักระบาดวิทยา ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตที่คาดว่าอาจเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม -วันที่ 29 ธันวาคม 2556 รวมทั้งสิ้น 38 ราย ใน 24 จังหวัด แบ่งเป็น เพศชาย 34 ราย หญิง 3 ราย ไม่ทราบเพศ 1 ราย (ทารกชาวกัมพูชา) ทั้งนี้ ได้รับการสอบสวนยืนยัน 27 ราย และรอรับรายงานการสอบสวนการเสียชีวิต 11 ราย สำ หรับ 27 ราย ที่ตรวจสอบยืนยันแล้ว พบว่ามีเพียง 2 ราย ที่มีผลวินิจฉัยเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นโดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น ใน จ.เลย และ จ.อุบลราชธานี ส่วนอีก 25 ราย การเสียชีวิตจากการมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนมาก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลา 09.00 น. สภาพการจราจร เส้นทางบนถนนสายหลักในพื้นที่ จ.ลำปาง ยังคงมีรถของประชาชน และนักท่องเที่ยว ทยอยเดินทางกลับกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง โดยเส้นทางถนนสายลำปาง - เชียงใหม่ ขาเข้า จ.ลำปาง ยังเดินทางกลับกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง โดยเส้นทางถนนสายลำปาง - เชียงใหม่ ขาเข้า จ.ลำปาง ยังมีรถวิ่งในปริมาณที่มาก และมุ่งสู่สี่แยกภาคเหนือ เพื่อจะเลี้ยวขวา เข้าสู่ถนนพหลโยธินสายลำปาง - ตาก จึงทำให้ถนนสายดังกล่าวที่จะวิ่งมุ่งหน้าไปยัง จ.ตาก และภาคกลาง ยังคงมีปริมาณรถที่หนาแน่น แต่ไม่ถึงขั้นกับติดขัด
ที่ จ.หนองคาย หลังมีอากาศหนาวเย็นติดต่อกันมาหลายวันในช่วงเช้าวันที่ 3 มกราคม มีหมอกลงจัดทั่วทั้งจังหวัดหนองคาย ติดต่อกันเป็นวันที่สอง โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองหนองคาย หมอกหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่ทั้งอำเภอเมืองหนองคาย ทำให้การสัญจรของยวดยานพาหนะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี ซึ่งอุณหภูมิช่วงเช้าอยู่ที่ 16 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 2 องศาเซลเซียส
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 มกราคม 2557
- 3 views