นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาแห่งประเทศไทย และนพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมสนทนาเจาะลึกทิศทางและผลกระทบธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพไทยหลังเปิดเสรีเออีซี ในรายการ Business Talk หัวข้อ "กระแส AEC กับธุรกิจด้านสุขภาพของไทย" ทางกรุงเทพธุรกิจทีวี
นับถอยหลังเป็นเวลา 2 ปีก่อนที่จะเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เต็มรูปแบบหลังจาก 31 ธ.ค. 2558 เป็นต้นไป ธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพไทยมีโอกาสจะก้าวสู่ "แชมเปี้ยน" ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้หรือไม่ กำลังถูกท้าทายจากการ "ปักธง"ของภาครัฐ ที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลต่อเป้าหมายการผลิตจำนวนแพทย์และพยาบาลที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน
นพ.สัมพันธ์ บอกว่า หลังจากเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนหลังปี 2558 แพทย์เป็นหนึ่ง 7 สาขาวิชาชีพสามารถเคลื่อนย้ายเสรีระหว่าง 10 ประเทศสมาชิก และเป็นโอกาสของไทยในการก้าวสู่ความเป็นหนึ่งของอาเซียนทั้ง ในด้านคุณภาพ การให้บริการ และเชิงธุรกิจ โดยไม่กังวลว่าผลจากการเปิดเสรีจะกระทบต่อสมองไหลของบุคลากรแพทย์ เพราะ คงมีบ้างที่ไหลไปสิงคโปร์ แต่คาดว่าไม่มาก ขณะเดียวกันแพทยสภาก็ไม่ได้กีดกันแพทย์ต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทยเช่นกัน ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องดูแลและสื่อสารกับคนไทย ได้ รวมถึงพยาบาลด้วย ทั้งนี้ แพทยสภา พร้อมสนับสนุนเต็มที่ อยู่แล้ว ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวด้านนี้ เช่น ทางโรงพยาบาลศิริราชได้จับมือกับคณะแพทย์ อาเซียน ภาคภาษาอังกฤษเราก็สนับสนุนซึ่งในส่วนของภาครัฐจะเน้นด้านวิชาการ ซึ่งปัจจุบันผลิตแพทย์ได้ 2,700 คนต่อปี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือนจะมีตำแหน่งบรรจุให้แพทย์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีจำนวนกว่า 20,000 ตำแหน่งหรือไม่มากกว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งบรรจุแพทย์ประมาณ 10,000 คน ขณะที่ความต้องการแพทย์ของ ภาคเอกชนคงไม่ใช่หมอจบใหม่เสียทีเดียว อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในบางส่วน ส่วนผู้ประกอบการเอกชนขนาดใหญ่อาจจะเปิดโปรแกรมฝึกอบรมที่ต่อยอดภาคปริญญาตรี โดยเสนอให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการ ผลิตบุคคลากรแพทย์มากขึ้นนับจากนี้ไป
"ยอมรับได้ให้สอบใบอนุญาตวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล) เป็นภาษาอังกฤษ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ เรายังไม่เห็นภาพนั้นจริงๆ ว่าเราต้องการขนาดนั้น" น.พ.สัมพันธ์ กล่าว นพ.สัมพันธ์ เชื่อว่าหลายประเทศ อาเซียนก็ยังกีดกันกันอยู่ แม้แต่สหภาพยุโรปเองก็ยังไม่มีใบอนุญาตกลางสำหรับประเทศสมาชิก โดยมองว่าหากเป็นนักศึกษาแพทย์ประเทศลาวก็สามารถสอบรับใบอนุญาตของไทยได้ ทั้งนี้ การสนับสนุนใดๆ สามารถทำได้โดยไม่เบียดบังประชาชนในประเทศ และแพทยสภาพร้อมที่จะปรับระเบียบเพื่อเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญ (Super Expert) เข้ามาสอนวิชาชีพแพทย์ในประเทศได้
เลขาธิการแพทยสภา ยังมองว่าธุรกิจ ให้บริการด้านสุขภาพไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีมากกว่า จากมาตรฐานการให้ บริการที่สูงขึ้น เพราะแต่ละโรงพยาบาลจะแข่งขันกันด้านบุคลากร ซึ่งอาจจะทำให้ขาดแคลนพยาบาลและเกิดการว่าจ้างพยาบาลจากต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ แต่ก็จะเข้ามาในฐานะผู้ช่วยพยาบาล ไม่ใช่พยาบาลโดยตรง ส่วนโรงพยาบาลรัฐไม่ได้รับผลกระทบจากเปิดเสรีเศรษฐกิจอเซียนมากนัก แต่อาจจะถูกกระทบด้วยการถูกเอกชนดึงตัวแพทย์ที่มีประสบการณ์ไปบ้าง "อาจจะยากที่กิจการโรงพยบาลไทยจะถูกเทคโอเวอร์จากบริษัทข้ามชาติ เพราะที่ผ่านมาแข็งแรงขึ้นมาก ยกเว้นโรงพยาบาลเดี่ยวๆ (ไม่มีเครือข่าย) ก็อาจจะมีโอกาส แต่ก็น่าจะซื้อขายการกันเองจากผู้ประกอบการในประเทศมากกว่า"
นพ. เฉลิม มองว่าเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ถือเป็นโอกาส แต่นโยบายของรัฐต้องชัดเจนจะได้รู้ว่า ต้องแก้ไขอะไรบ้าง เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกจำนวนแพทย์ของไทยอยู่อันดับที่ 7 จำนวนพยาบาลอยู่ในอันดับที่ 6 ซึ่งนับว่าขาดแคลน อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร ของประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 20 ต่อ 10,000 ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 3 ต่อ 10,000 ซึ่งเป็นข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
"ถ้าเราตั้งโจทย์อยากเป็นแชมเปี้ยนของ 10 ประเทศ ต้องมาวิเคราะห์กันถึงความเสี่ยงด้านบุคลากรที่ต้องแก้ในระยะยาว เช่น ถ้าจะเพิ่มแพทย์เป็น 10 คนต่อประชากร 10,000 คน จะทำอย่างไร เพราะบุคลากรด้านสารณะสุข จะขาดแคลนหมด" นพ.เฉลิม กล่าว
นพ.เฉลิม เสนอด้วยว่า ควรมีคณะกรรมการ ระดับชาติเพื่อพิจารณาถึงอัตราส่วนของจำนวนแพทย์ต่อจำนวนผู้รับการรักษา ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศ และผู้ที่เดินทาง เข้ามารักษา เพื่อให้ได้ฐานตัวเลขเดียวกัน
"หากไทยผลิตแพทย์ไม่ทันจะแก้ไขอย่างไร สุดท้ายคงถูกบีบให้ใช้ภาษาอังกฤษในการสอบรับใบอนุญาตวิชาชีพแพทย์"
นพ.เฉลิมบอกว่า การร่วมกันผลิตแพทย์ระหว่างภาครัฐเอกชนขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ถ้าผลิตไม่ทันควรต้องทำให้ได้ และต้องมี เป้าหมายเดียวกันเพื่อให้ทันต่อการความต้องการ หากผลิตไม่ทันต้องเปิดให้สอบใบอนุญาตโดยใช้ภาษาแม่ของผู้สอบแล้วให้ล่ามแปล เพราะในที่สุดแล้วคาดว่าจะต้องมีใบอนุญาตกลางในอนาคต นพ.เฉลิม มองว่า หากConnecting the dotsไทยต้องการเป็นศูนย์กลางให้บริการด้านสุขภาพ จำเป็นต้องมีคณะบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามากำกับ เพื่อเป็นหลักประกันด้านคุณภาพ ส่วนในเชิงธุรกิจ ปีนี้ไทยมีรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 140,000 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ 2.5 ล้านคน จากจำนวนนี้ สัดส่วน 18% เป็นการตรวจสุขภาพ 14% ศัลยกรรมความงามและทันตกรรม และ 10-13% รักษาเกี่ยวกับโรคกระดูก
"ไทยได้เปรียบคือ หมอเก่ง บริการดี และมาตรฐานใช้ได้ แต่ข้อด้อยคือการสื่อสาร ภาษาอังกฤษ แต่ตัวเลขพบว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในไทยมีสัดส่วน 60% ทำรายได้ 17-18% ของ รายได้ทองเที่ยว เทียบกับสิงคโปร์ที่มี สัดส่วนนักท่องเที่ยวประเภทนี้ 17-80% แต่ทำรายได้เกือบ 40% แสดงว่าไทยยังมีโอกาสทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลก้าวสู่ตลาดเฉพาะเจาะจง"
ส่วนการถือครองหุ้นที่ต้องเปิดเพดานถึง 70% นั้น นพ.เฉลิมมองว่า ตลาดให้บริการด้านสุขภาพของโรงพยาบาลในกรุงเทพ ซึ่งครอบคลุมกว่า 10,000 เตียง ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะพบว่าทุนใหญ่อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และตุรกีถ้าจะขยายเครือข่ายมา ยังไทย จะมาในรูปแบบของการตั้งบริษัท ร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยมากกว่า ทั้งนี้ ไทยมีโรงพยาบาลทั้งสิ้น 322 แห่ง "การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพไทยตอนนี้ ยังไม่เหมาะสม เพราะกรอบระเบียบข้อตกลง ไม่ชัดเจน ควรรอให้มีระเบียบกลางของ 10 ประเทศก่อน จากนั้นเราค่อยออกไป" นพ.เฉลิม แนะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ธันวาคม 2556
- 17 views