ในด้านการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลและคลินิกของญี่ปุ่นราวร้อยละ 80 เป็นของเอกชน โดยส่วนใหญ่เป็นขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Non-profit Organization) หรือเป็น ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ญี่ปุ่นต่างจากไทยในข้อสำคัญ คือ ไม่ยอมให้โรงพยาบาลเข้าตลาดหุ้นเพื่อป้องกันการ"แสวงหากำไรสูงสุด"คณะศึกษาดูงานกลุ่มที่ 1 มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในกรุงโตเกียว 1 แห่ง กลุ่มที่ 2 ไปดูโรงพยาบาลของภาครัฐที่จังหวัดชิบะ 1 แห่ง และอีก 1 แห่งเป็นโรงพยาบาลสาขาขนาดย่อม ผู้เขียนอยู่ในกลุ่มที่ไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลท้องถิ่น 2 แห่ง
โรงพยาบาลแห่งแรกที่คณะของผู้เขียนไปเยี่ยมชม คือ โรงพยาบาลคิมิตสึซูโอะ ในจังหวัดชิบะ โรงพยาบาลแห่งนี้ปัจจุบันเป็นของเทศบาล 4 แห่งร่วมกันเป็นเจ้าของ คือเทศบาลเมืองคิซาระสุ เทศบาลคิมิตสึ เทศบาลฟุตต์สุ และเทศบาลโซเตะงะอุระ โรงพยาบาลแห่งนี้มีโรงเรียนพยาบาลอยู่ด้วย และยังมีโรงพยาบาลสาขาแห่งหนึ่งให้บริการในท้องที่เมืองโอซาวะซึ่งเป็นท้องที่ห่างตัวเมืองใหญ่ออกไปไกล ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงลักษณะท้องที่เป็นแบบชานเมืองและชนบท
โรงพยาบาลคิมิตสึชูโอะเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ. 2471 โดยสมาคมโฮโซเชกินินอิเรียวโกไบริโยะคูมิเออิ เริ่มจากโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง มีแพทย์ 8 คน แบ่งเป็น 7 แผนกต่อมาเมื่อพ.ศ. 2494 ได้ย้ายไปสังกัดสหพันธ์สมาคมประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Federation of Health Insurance Socity)ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance หรือ NHI) โดยตรง ขณะนั้นโรงพยาบาลขยายเป็นขนาด 234 เตียง โดยน่าสังเกตว่า ในจำนวน 234 เตียงนั้นเปิดรับสำหรับผู้ป่วยทั่วไปเพียง 72 เตียง แต่เป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยวัณโรคถึง 150 เตียง ที่เหลือ 12 เตียง สำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่น
ลักษณะของการให้บริการดังกล่าวสะท้อนสภาพเศรษฐกิจสังคมของญี่ปุ่นในขณะนั้นได้เป็นอย่างดีว่าประชาชนจำนวนมากยังอยู่ในฐานะลำบากยากจน และเป็นวัณโรคกันมากจนต้องมีเตียงในโรงพยาบาลรองรับถึงร้อยละ 64 ของโรงพยาบาลระดับจังหวัด
โรงพยาบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้เป็นเจ้าของมาโดยลำดับ ในปี 2507 โรงพยาบาลเปิดให้บริการ 296 เตียง แบ่งเป็นสำหรับผู้ป่วยทั่วไป 168 เตียง สำหรับผู้ป่วยวัณโรคลดลงเหลือ 98 เตียง และสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่น30 เตียง มีบุคลากรรวม 145 คน เป็นแพทย์ 18 คน จะเห็นได้ว่าจำนวนเตียงผู้ป่วยวัณโรคลดลงร้อยละ 35 สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจสังคมที่พัฒนาขึ้นมาก สถานะสุขภาพของประชาชนดีขึ้นชัดเจน
ในปี 2511 มีการเปิดโรงพยาบาล ณ เมืองคิซาระสุ จำนวนเตียงขยายเป็น 330 เตียงแบ่งเป็น 15 แผนก เตียงคนไข้วัณโรคลดลงเหลือเพียง 50 เตียง คนไข้ทั่วไปเพิ่มเป็น 230 เตียง คนไข้โรคติดเชื้ออื่น50 เตียง บุคลากรเพิ่มเป็น 202 คน แพทย์เพิ่มเป็น 50 คน
สองปีต่อมามีการเปิดโรงพยาบาลสาขาที่เมืองโอซาวะมี 36 เตียง สำหรับผู้ป่วยทั่วไปทั้งหมด แบ่งเป็น 4 แผนก มีเจ้าหน้าที่ให้บริการรวม 24 คน เป็นแพทย์ 3 คน
ปีต่อมา คือใน พ.ศ. 2512 เปิดโรงเรียนพยาบาล โรงพยาบาลได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องในปี 2546 โรงพยาบาลได้ย้ายไปอยู่ ณอาคารหลังใหม่ เปิดให้บริการเมื่อวันที่15 ก.ค.เป็นโรงพยาบาลขนาด 651 เตียง แบ่งเป็น 30 แผนก ปีต่อมาโรงพยาบาลได้รับการรับรองจากสภารับรองคุณภาพด้านสุขภาพแห่งญี่ปุ่น(Japan Council for Quality Health Care)อีกปีต่อมา ในปี 2548 โรงพยาบาลได้รับการรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมทันตแพทย์
ใน พ.ศ. 2551 โรงพยาบาลได้เริ่มระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ เรียกว่าโครงการ "หมอเฮลิคอปเตอร์" (Doctor Heli)โดยมีการลงทุนซื้อเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่ออกแบบและมีอุปกรณ์สำหรับขนส่งคนไข้โดยเฉพาะ พร้อมให้บริการตลอดเวลา ณ ลานจอดฮ. ของโรงพยาบาล ปัจจุบันมีคนไข้ได้ใช้บริการนี้ปีละ 500-600 ราย ให้บริการในอาณาบริเวณที่ครอบคลุมประชากรราว 3.2 แสนคนนับว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องนี้สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับของประเทศไทย ซึ่งมีประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคน มีบริการขนส่งคนไข้ทางอากาศปีละราว 50 ราย เท่านั้น ปัจจุบันโรงพยาบาลมีเตียงให้บริการรวม 661 เตียงแบ่งเป็นสำหรับคนไข้ทั่วไป 637 เตียง สำหรับคนไข้วัณโรคเหลือเพียง 18 เตียง และสำหรับคนไข้โรคติดเชื้ออื่น6 เตียง แบ่งเป็น 39 แผนก
น่าสนใจว่าในจำนวน 39 แผนกนั้น มีหนึ่งแผนกเรียกว่า "คลินิกความเห็นที่สอง" ให้บริการให้คำปรึกษาแก่คนไข้และญาติเมื่อแพทย์ผู้ให้การรักษาวินิจฉัยและสั่งการรักษาแล้วคนไข้หรือญาติต้องการ "ความเห็นที่สอง" เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเชื่อการวินิจฉัยโรคหรือแนวทางการรักษา เช่น จะผ่าตัดหรือไม่หรือจะรับการตรวจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เจาะตับ หรือที่มีราคาแพงหรือไม่ เป็นต้น
อาคารโรงพยาบาลปัจจุบันมี 10 ชั้น บวกชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ให้บริการคนไข้ในปี 2556 จำนวน 293,736 คน คนไข้ใน 207,671 คนอัตราครองเตียงร้อยละ 86 อัตราครองเตียงดังกล่าวแสดงว่า มีการใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหาเรื่องความแออัดจนคนไข้ล้นมาอยู่ตามระเบียง จนถึงหน้าบันไดหรือทางเชื่อมระหว่างอาคารเหมือนโรงพยาบาลต่างจังหวัดจำนวนมากในบ้านเรา
ปัจจุบันโรงพยาบาลมีเจ้าหน้าที่ 958 คนเป็นแพทย์ 95 คน พยาบาล 591 คน และยังมีแพทย์ที่อยู่ระหว่างฝึกอบรมปฏิบัติงานอีก 52 คน
โดยที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีเทศบาล 4 แห่งเป็นเจ้าของ ในคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 12 คนจึงมีตัวแทนจากการเลือกตั้งของแต่ละเทศบาลแห่งละ 2 คน มาเป็นกรรมการกับรองนายกเทศมนตรีของเทศบาลทั้ง 4 แห่ง ประธานกรรมการโรงพยาบาลมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีผู้ตรวจสอบ 2 คน แต่งตั้งจากนักวิชาการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี เช่นกัน
โดยสรุปโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลของรัฐบาลท้องถิ่น 4 แห่ง มีระบบบริหารในรูปคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของรัฐบาลท้องถิ่นให้บริการในท้องถิ่นที่มีประชากรราว 3.2 แสนคน แต่มีโรงพยาบาลขนาด 661 เตียงโดยในท้องที่ยังมีโรงพยาบาลและคลินิกอื่นให้บริการด้วย ดังนั้นแม้คนญี่ปุ่นจะไปใช้บริการในอัตรามากกว่าคนไทยกว่า 3 เท่า แต่โรงพยาบาลก็ยังเป็นที่ "สัปปายะ" ไม่แออัดและเมื่อมีความจำเป็นฉุกเฉินก็มีบริการขนส่งทางอาการรองรับอย่างดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 31 ธันวาคม 2556
- 301 views