เดลินิวส์ - ผวาอีสานเหนือ ครองแชมป์ผู้ป่วย จากโรคอาหารเป็นพิษ สคร. 6 ขอนแก่น เร่งประชุมเชิงปฏิบัติการ หาแนวทางแก้ไข หลังถูกจัดเข้าโซนอันตรายอันดับ 3 จาก 5 ประเทศ เชื่อสาเหตุจากติดเชื้อและพฤติกรรมการบริโภค พบเด็กเล็กและวัยเรียน ล้มป่วยครั้งละกว่าร้อยราย เตรียมสอดแทรกความรู้เรื่องอาหารปลอด ภัยเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ธ.ค. ณ ห้องประชุมโรงแรมโฆษะ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พญ.ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ขอนแก่น (สคร.6) เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาต้นแบบในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทางเดินอาหารและน้ำในพื้นที่เสี่ยงแบบบูรณาการ" เน้นโรคอาหารเป็นพิษ โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม จำนวนมาก
โดย พญ.ศศิธร เปิดเผยว่า ผู้ที่ล้มป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษขั้นร้ายแรง อาจเสียชีวิตได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ จากสถิติการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาพบว่า ในปี 51-56 มีผู้ป่วยในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน สูงเป็นอันดับหนึ่ง ถูกจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงติดอันดับ 3 ใน 5 ประเทศ โดยกลุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 0-4 ขวบ พบมากที่สุด และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนพื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม อ.ชนบท และอ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น แหล่งที่ระบาดส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนและชุมชน มีสาเหตุจากการรับประทานพืชที่มีพิษ รองลงมาคือ กุ้งจ่อม ปลาจ่อม ปลอมปนเชื้อ Vibrio parahaemolyticus และ Salmonella spp
ผอ.สคร.6 ยังเปิดเผยต่อไปว่า ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร ได้ตรวจสอบตัวอย่างอาหาร พบการปนเปื้อนทางเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ร้อยละ 3.65 โดย 3 อันดับแรกได้แก่ น้ำแข็ง น้ำดื่มและอาหารปรุงจำหน่าย ซึ่งพบจุลินทรีย์จากมือพ่อค้า แม่ค้า ที่หยิบจับอาหาร และพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ การลดอัตราผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเขตประถมศึกษาพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ให้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมดำเนินการ และร่วมประเมินผล เพื่อให้อาหารไทยเป็นอาหารที่ปลอดภัย และสอดคล้องกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาต้นแบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทางเดินอาหารและน้ำ ในพื้นที่เสี่ยงแบบบูรณาการ โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น เคยประสบกับโรคท้องร่วง และอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง ส่งผลให้เด็กนักเรียนป่วยครั้งละกว่า 100 ราย โดยเฉพาะอาหารที่โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กปรุงขึ้นครั้งละมาก ๆ หากไม่มีความรู้และเอาใจใส่อย่างเพียงพอ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และการเจริญเติบโตทั้งทางสมองและร่างกายของเด็ก ทางจังหวัดจึงจัดโครงการอาหารปลอดภัย ปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ชัดเจน พร้อมทั้งบูรณาการนำความรู้เรื่องอาหารปลอดภัยมาสอดแทรกในเนื้อหาสาระของนักเรียน เพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 89 views