กระทรงสาธารณสุข สั่งทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกที่พบทั่วโลก ทุกสายพันธุ์ ตลอดฤดูหนาว เน้นหนักในพื้นที่ที่เคยพบคนหรือสัตว์ปีกติดเชื้อและจังหวัดแนวชายแดน ย้ำเตือนประชาชนห้ามนำเป็ดไก่รวมทั้งนกที่กำลังป่วยหรือตายแล้วมาชำแหละเป็นอาหารอย่างเด็ดขาดและหากมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยตามร่างกาน และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย ให้รีบพบแพทย์หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง เอื้อต่อการอพยพของสัตว์ปีก และการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ที่น่าห่วงคือโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีกและสามารถติดต่อมาสู่คนได้ง่าย โดยเฉพาะ 5 สายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 2 (H5N2) สายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 ( H10 N 8) สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 5(H7N5) สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ซึ่งสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด คือ เอช 5 เอ็น 1 และมักมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าวัยอื่น และในช่วงนี้หลายพื้นที่อากาศหนาวเย็นและเริ่มมีนกอพยพหนีสภาพอากาศหนาวจากต่างประเทศมาที่ประเทศไทย อาจนำเชื้อมาแพร่ที่ประเทศไทยได้
แม้ว่าไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ ตั้งแต่พ.ศ.2549 เป็นต้นมา แต่จากการประเมินความเสี่ยงของไทยต่อการระบาดของโรคไข้วัดนก โดยเฉพาะสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 พบว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่โรคอาจจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงยังพบผู้ป่วยไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก รวมทั้งการเดินทางไปมาของประชาชน ได้มอบให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เน้นหนักจังหวัดที่เคยพบสัตว์ปีกหรือคนติดเชื้อไข้หวัดนก รวมทั้งจังหวัดแนวชายแดนไทยกัมพูชา และไทย – พม่า ให้คงมาตรการเฝ้าระวังโรคนี้ทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างเข้มข้น ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์ ครอบคลุมระดับหมู่บ้าน และโรงพยาบาล เพื่อตรวจจับโรคที่รวดเร็ว
ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังในในกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง 2.ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดและมีอาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 3.ผู้ป่วยปอดอักเสบที่พบตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่ป่วยในเวลาไล่เลี่ยกัน และ4.บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ หากพบผู้ป่วยดังกล่าวให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุข สอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทุกราย ส่วนในสัตว์ปีกให้ อสม.ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในพื้นที่เฝ้าระวังการป่วยตายผิดปกติในสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้านเรือนและธรรมชาติ หากพบให้ดำเนินการเก็บตรวจทางห้องปฏิบัติการทันทีและแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ขอให้ยึดหลักปฏิบัติในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้วหรือกำลังมีอาการป่วยมาชำแหละเพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก ผู้ชำแหละจะติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งได้ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติกและล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก รวมทั้งไม่สัมผัสกับผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ และหากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่นมีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรปรึกษาสายด่วนของกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ องค์การอนามัยโลกรายงาน ดังนี้ 1.ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ยังพบในประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในคนและสัตว์ อย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยยืนยันใน 15 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2546-2556 รายงาน วันที่ 13 ธันวาคม 2556 พบผู้ป่วยทั้งหมด 648 ราย เสียชีวิต 384 ราย 2.สายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 มีรายงานผู้ป่วยรายแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2556 ที่ประเทศจีน ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงวัย 73 ปี มีประวัติเดินทางไปตลาดสดค้าสัตว์ปีกในท้องถิ่น 3.สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 พบ ผู้ป่วยในปี 2556 ตั้งแต่มีนาคม – 25 ตุลาคม รวม 137 ราย เสียชีวิต 45 ราย พบในจีนและไต้หวัน
- 5 views