สรส.ออกแถลงการณ์วันแรงงานข้ามชาติสากล เรียกร้องรัฐบาล 6 ข้อพัฒนาสิทธิ์แรงงานข้ามชาติ
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ออกแถลงการณ์วันแรงงานข้ามชาติสากล ว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติประกาศรับรองให้วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล ปัจจุบันนี้ มีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จากประเทศต่างๆ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอื่นๆ รวมประมาณกว่า 4 ล้านคน เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตทำงาน 1,972,504 คน ซึ่งแบ่งเป็นผู้เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย 698,777 คน และเข้าประเทศผิดกฎหมาย 1,273,727 คน และคาดว่า ยังมีผู้เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่า 2-3 ล้านคน
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างพลังการผลิตและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้ประกอบการกลับยังคงพบการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน โดยมิคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงาน ข้ามชาติและการจ้างงานที่เป็นธรรม (Decent work) เช่น การกดราคาค่าจ้าง การทำงานในสภาวะที่เสี่ยงต่ออันตรายและไม่ถูกสุขอนามัย การกักขังหน่วงเหนี่ยวเยี่ยงทาสและการค้ามนุษย์ การสร้างกระบวน การในการพิสูจน์สัญชาติที่มีความล่าช้าและมีความซับซ้อน สร้างความยากลำบากให้แก่ตัวแรงงาน แต่เอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่างๆ เมื่อแรงงานต้องเข้าสู่เรื่องราวที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย พบว่าแม้ตัวแรงงานเป็นผู้เสียหาย แต่ด้วยยังอยู่ในฐานะของผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ต้องมี การดำเนินคดีในเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองกับแรงงานด้วย เป็นต้น ปัญหาของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จึงยังคง เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง ขบวนการสหภาพแรงงานไทย และ แรงงานข้ามชาติเองเพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติและเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในสายตานานาชาติซึ่งมีความละเอียดอ่อน
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN: Migrant Workers Right Network) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติสากล จึงตกลงร่วมกันที่จะจัดกิจกรรมรณรงค์การคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติให้เกิดความทัดเทียมกับแรงงานคนไทย ด้วยข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
1. ให้ปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้เสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ลัทธิความเชื่อ สีผิว และเพศสภาพ อันเป็นหลักการที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลด้วยสิทธิมนุษยชน ดังเช่น แรงงานข้ามชาติ ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ และกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น
2. ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมตามอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 ให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความรวมตัว เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และมีเวทีเจรจาพูดคุยกับนายจ้างในประเด็นของค่าจ้างและสวัสดิการ อันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่แรงงานข้ามชาติ สามารถใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่จากการจ้างงาน
3. กำหนดความชัดเจนในนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยเฉพาะ การจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐให้ทำงานที่สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ
4. ลดขั้นตอนในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ พร้อมอำนวยความสะดวกในการขอใช้แรงงาน ข้ามชาติของนายจ้าง โดยไม่ต้องผ่านระบบนายหน้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดค่าใช้จ่ายของแรงงาน และป้องกันมิให้แรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบ
5. แรงงานข้ามชาติต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเปลี่ยนนายจ้างได้
6. รัฐบาลควรกำหนดให้สถานประกอบของแรงงานข้ามชาติจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ
- 2 views