คมชัดลึก - โรคภูมิแพ้เป็นโรคฮิตติดอันดับของคนในสังคมทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ กล่าวกันว่าแปดในสิบคนที่เดินเข้าร้านขายยามักจะซื้อยาที่เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ กลุ่มคนเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้อย่างไม่รู้จบ และต้องทนทุกข์จากผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ เช่น อาการง่วงนอน ปากคอแห้ง หรือการเต้นของหัวใจถูกรบกวน
บางท่านยังประสบกับอาการข้างเคียงของยาที่ทำให้จมูกโล่ง คือ อาการใจสั่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หรือมีอาการทางจิตประสาท ทางออกของโรคภูมิแพ้ในมุมมองของการรักษาแผนปัจจุบันคือ การหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ การกินยา และหาหมอ
"ภูมิแพ้" เกิดจากความไม่สมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันเป็นกลไกที่ซับซ้อนพอสมควร ถ้าจะลองอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรคพวกแบคทีเรีย รา ไวรัส หรือเนื้อเยื่อที่ฟกช้ำจากการบาดเจ็บ ระบบภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นให้เซลล์หลั่งสารเคมีบางชนิดเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น มีการสั่งให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคพร้อมรบ มีการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาบริเวณนี้มากขึ้น อุณหภูมิบริเวณนี้จะสูงขึ้น และมีอาการบวมที่เราเรียกว่าอาการอักเสบ (Inflammation) เมื่อสิ่งใดที่แปลกปลอมดังกล่าวหายไปแล้ว แต่เจ้าระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานอยู่ เห็นสารปกติธรรมดาที่มีอยู่รอบตัวเป็นสิ่งแปลกปลอม คราวนี้แหละยุ่งการอักเสบก็ยังคงดำรงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในหู คอ จมูก และระบบทางเดินหายใจ คือมีอาการบวม แดง ร้อน หายใจลำบาก ซึ่งลุกลามเป็นผลให้เกิดการหายใจลำบาก กลายเป็นโรคหอบหืด
คำแนะนำในการปฏิบัติตนก่อนอื่นต้องหาสาเหตุว่าภูมิแพ้มาจากไหน
เริ่มจากที่นอนหมอนมุ้งของเราก่อนว่า มันเป็นที่สะสมของฝุ่น ตัวไรหรือไม่อย่างน้อยควรตากแดดบ่อยๆ อาทิตย์ละครั้ง อาหารที่เรากินเข้าไปก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการแพ้ ควรสำรวจว่าเราแพ้อาหารอะไร คือเวลากินอะไรเข้าไปแล้วเป็นผื่นคัน มีอาการจับหอบ ก็ควรหลีกเลี่ยง สำหรับในกรณีท่านที่ไม่ได้แพ้อาหารก็ควรรับประทานอาหารที่เสริมให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ และไม่ควรปล่อยให้มีของเสียสะสมในลำไส้ มีการขับถ่ายที่เป็นปกติ โดยการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย เพื่อช่วยกวาดของเสียทิ้งออกไปกับการถ่ายอุจจาระ
นอกจากการกินอาหารที่มีกากแล้ว อาหารที่เป็นสมุนไพรหลายชนิดช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้ อาทิ หอมหัวแดง หอมหัวแดงเป็นสมุนไพรในครัวเรือนที่คนสมัยก่อนใช้รักษาโรคหวัด โดยกินหอมหัวเล็กวันละ 1/2 -1หัว จะทำให้ร่างกายสดชื่น มีความต้านทานต่อโรคหวัด แต่ต้องระวังเพราะตำราจีนห้ามกินเกินวันละ 3 หัว (หัวขนาดเท่านิ้วมือ) เพราะอาจทำให้เกิดอาการมึนงงหลงลืมง่าย รากผมไม่แข็งแรง
ปัจจุบันพบว่าในหอมหัวแดงมีสารไบโอฟลาไวนอยด์ชื่อ เคอซิติน (Quercitin) มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้าย โครโมลินโซเดียม (Cromolyn sodium) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่นิยมนำมาใช้รักษาโรคภูมิแพ้และอาการหอบหืดโดยตัวของสารในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์นั้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระเป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้อาการอักเสบรุนแรงขึ้น การกำจัดอนุมูลอิสระ ด้วยการรับประทานผักที่มีสีแดง สีส้ม ก็จะช่วยลดอาการแพ้ได้
การรับประทานขมิ้นชัน เป็นประจำก็จะช่วยให้โรคภูมิแพ้ดีขึ้น ขนาดที่รับประทานถ้าเป็นการป้องกันก็ใช้ผงขมิ้นชันประมาณ 500-1000 มิลิกรัม (1-2 แคปซูล) วันละ 2-3 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการควรรับประทานเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2 กรัม (ประมาณ 4 แคปซูล) วันละ 3 ครั้ง จากการรายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมไปถึงมีฤทธิ์ต้านฮิสตามีน ปัจจุบันในตำราสมุนไพรจากต่างประเทศก็ยอมรับว่าขมิ้นชันเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อคนที่เป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืด
สมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยในอดีตนิยมใช้แก้หอบหืด แพ้อากาศ แก้ไอ แก้หวัด ปัจจุบันเป็นสมุนไพรที่ชาวโลกรู้จักกันดีคือ ลูกยอ โดยรับประทานลูกยอสด ตำเป็นส้มตำ หรือยอสุกจิ้มเกลือรับประทาน หรือบดเป็นผงชงกินกับน้ำร้อนครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา วันละ 3 เวลา หรือปั่นกับน้ำผึ้ง และปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทราไทยรับประทานวันละ 3 เวลา
นอกจากสมุนไพรที่กล่าวมา ในแวดวงสมุนไพรยังมีการแนะนำให้ใช้ ชาเขียว ขิง ชะเอม น้ำมันปลา เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้แต่สมุนไพรทั้งสามชนิดคือ หอมแดง ขมิ้นชัน ยอ เป็นสิ่งที่คนไทยสามารถพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 13 ธ.ค. 56
- 2023 views