วิจัยพบยุงติดเชื้อไข้เลือดออก-ชิคุนกุนยา ผ่านจากแม่ยุงสู่ลูกยุงได้ ไม่จำเป็นต้องไปกัดผู้ป่วยแล้วติดเชื้อ ชี้หลายพื้นที่พบยุงลายติดเชื้อทั้งสองชนิด ขณะที่ความร่วมมือป้องกันควบคุมโรคยังอ่อนด้อย กรมวิทย์เร่งดันแผนยุทธศาสตร์ เดินหน้าอบรมให้ความรู้การควบคุมยุงพาหะ
วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเรื่อง “แนวทางใหม่ในการควบคุมยุงพาหะไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย” ว่า ไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะ แต่ละปีพบผู้ป่วยไข้เลือดออกหลายหมื่นคนและมีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คน แต่จากการรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2556 มีความรุนแรงมาก เมื่อเทียบกับช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยเกือบ 150,000 คน และเสียชีวิต 131 ราย ขณะที่โรคไข้ปวดข้อยุงลายในไทย พบว่า แม้จะไม่มีรายงานการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ แต่ยังคงมีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ผลการวิจัยของกรมวิทย์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในหลายพื้นที่รวมทั้ง จ.ขอนแก่น และ จ.บึงกาฬ ยุงลายทั้งสองชนิดติดเชื้อสูงและยุงบางตัวติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด ได้แก่ เชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งทำให้เกิดไข้เลือดออกและเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลาย นอกจากนี้ ยังพบว่า ไม่จำเป็นว่ายุงต้องไปกัดผู้ป่วยแล้วจึงจะมีเชื้อ เพราะเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดนี้สามารถถ่ายทอดจากแม่ยุงไปยังลูกยุงได้ด้วย
นพ.อภิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคดังกล่าวระหว่างท้องถิ่นและภาครัฐ ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เป็นตัวเชื่อมเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้ การควบคุมโรคนำโดยแมลงหลายโรคสามารถบูรณาการกันได้ ดังนั้น กรมวิทย์จึงได้เข้าร่วมกับหน่วยงาน สธ.จัดทำแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่อนำโดยแมลงระดับชาติ ปี 2555-2559 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในยุทธศาสตร์การลดโรคติดต่อนำโดยแมลงของประเทศต่อไป
“กรมวิทย์จึงจัดการฝึกอบรมดังกล่าวขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ประกอบการกำจัดแมลง อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของกรมวิทย์ในพื้นที่เข้าร่วม เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของยุงพาหะ นวัตกรรมการวิจัย การใช้อัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกีและชิคุนกุนยาในยุงเฝ้าระวังการระบาด การควบคุมยุงโดยใช้กับดักยุงแบบดักตาย และสาธิตวิธีการทดสอบประสิทธิภาพของสารทาป้องกันยุงและการทดสอบการดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลง ความรู้เกี่ยวกับเครื่องพ่นและวิธีพ่นที่เหมาะสมสำหรับป้องกันกำจัดแมลงที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ซึ่งจัดขึ้นไปแล้ว 2 ครั้งในภาคใต้ คือ ภูเก็ตและตรัง พบว่าสามารถสร้างผู้นำชุมชนในการนำความรู้ไปเผยแพร่สู่ผู้ปฏิบัติได้มากกว่า 300 คน” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
- 75 views