ญี่ปุ่นมีพระราชบัญญัติประกันสุขภาพ(Health Insurance Act) ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 และมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 และใช้เวลาอีกราว 34 ปี จึงสามารถแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวให้เป็นพระราชบัญญัติสุขภาพ "แห่งชาติ" ให้ประชาชนทั่วประเทศมีหลักประกันถ้วนหน้าตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ซึ่งตรงกับปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย จากนั้นก็มีการ "พัฒนาระบบ" อย่างต่อเนื่องได้แก่การเริ่ม "ระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ"(Elderly Health Care System) เมื่อพ.ศ.2526 โดยผูกระบบดูแลนี้กับระบบบริการสุขภาพ เมื่อพบว่าค่าใช้จ่ายการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุสูงมาก จึงเริ่มสร้าง "ความยั่งยืน" ให้แก่ระบบ โดยการตรากฎหมายให้มี "ระบบประกันการดูแลระยะยาว" (Long-term Care Insurance System) เมื่อปี2543 และพบว่ากลุ่มคนสูงอายุที่อายุมากกว่า 75 ปี เป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลสุขภาพและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงเริ่มมี "ระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้มีอายุเกิน 75 ปี" (Health Insurance System for the aged over 75)เมื่อพ.ศ. 2551
ญี่ปุ่นเพิ่งฉลองครบรอบ 50 ปี ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อปี2554 นี้เอง
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีระบบประกันสุขภาพแก่ประชากรกลุ่มต่างๆ แบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่
หนึ่งระบบประกันสุขภาพผู้มีอายุสูงเกิน75 ปี ครอบคลุมประชากร 15 ล้านคน มี"องค์กร" หรือ "กองทุน" ดูแล 47 แห่ง ใน
47 จังหวัด
ญี่ปุ่นเรียก "จังหวัด" ในภาษาอังกฤษว่าPrefecture ไม่เรียกว่า Province อย่างบ้านเรา โดยจังหวัดของญี่ปุ่น เกิดจากเดิมญี่ปุ่นแยกเป็นแคว้นอิสระราว 300 แคว้น เมื่อมีการปฏิรูปสมัยเมจิได้มีการรวมกลุ่มแคว้นเล็กๆ เป็นกลุ่มๆ เข้าเป็นกลุ่มละหนึ่งจังหวัดเพื่อให้มีขนาดพอเหมาะในการปกครองและบริหารจัดการระยะแรกปรับลดเหลือ 75 "จังหวัด" ในปี 2431 และในที่สุดได้ปรับลงอีกจนเหลือ 47 จังหวัด จังหวัดเหล่านี้มีอำนาจอิสระระดับหนึ่ง ไม่ขึ้นตรงทั้งหมดกับส่วนกลางจึงไม่เรียกว่า Province ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นอิสระมากเท่ามลรัฐในสหรัฐ จึงไม่เรียก State แต่เรียกว่า Prefecture ปัจจุบันแต่ละจังหวัดจะเลือกผู้ว่าการของตนเอง และมีสภาจังหวัดเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและตรวจสอบถ่วงดุล เมื่อเกือบสี่สิบปีมาแล้วผู้เขียนไปเยือนญี่ปุ่นครั้งแรก มีโอกาสไปพบสมาชิกสภาจังหวัดท่านหนึ่งที่บ้าน ตอนไปเข้าห้องน้ำหลังบ้านพบเจ้าหน้าที่ 2 คน กำลังยุ่งอยู่กับเอกสารกองโตทราบต่อมาว่าทั้งสองคนเป็นเลขานุการกำลังเตรียมข้อมูลให้สมาชิกสภาจังหวัดอภิปรายในสภาวันรุ่งขึ้น
ญี่ปุ่นมีระบบการปกครองคล้ายคลึงกับประเทศเจริญแล้วอย่างอังกฤษ กล่าวคือ มีแต่การบริหารส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ไม่มีส่วนภูมิภาคอย่างของเรา ระบบการปกครองส่วนภูมิภาคบ้านเรานั้น แท้จริงแล้วเลียนแบบมาจากระบบที่อังกฤษใช้ปกครองเมืองขึ้น นั่นคือการแต่งตั้ง "ผู้ว่าราชการ" อาณานิคมอย่างอินเดีย สิงคโปร์ ขึ้นต่อกรุงลอนดอนเหมือนที่ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดต้องฟังคำสั่งจากกรุงเทพฯ คือ มหาดไทยเป็นหลัก จึงมักไม่สามารถตอบสนองและแก้ปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
ระบบประกันสุขภาพผู้มีอายุเกิน 75 ปีครอบคลุมประชากรเพียง 15 ล้านคน แต่มีค่าใช้จ่ายถึง 13 ล้านล้านเยน ในปีงบประมาณ2556
สอง"ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ" ทำหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย ผู้รับบำนาญ และผู้ทำงาน "บางเวลา" ครอบคลุมประชากรราว 38 ล้านคน มีกองทุนต่างๆดูแลอยู่ราว 1,800 กองทุน มีค่าใช้จ่ายราว 10 ล้านล้านเยน
สาม"สมาคมประกันสุขภาพญี่ปุ่น"(Japan Health Insurance Association)ดูแลพนักงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครอบคลุมประชากรราว 35 ล้านคนเป็นกองทุนขนาดใหญ่กองทุนเดียว ค่าใช้จ่ายประมาณ 5 ล้านล้านเยน
สี่"สมาคมประกันสุขภาพ" (Health Insurance Societies) ดูแลพนักงานในบริษัทขนาดใหญ่ ครอบคลุมประชากรราว 30 ล้านคน ประกอบด้วยกองทุนราว 1,400 กองทุน
ห้า"สมาคมสิทธิประโยชน์" (Benefit Societies) ดูแลข้าราชการและครอบครัวราว9 ล้านคน มี 85 กองทุน ค่าใช้จ่ายในกลุ่มที่สี่และห้ารวมราว 5 ล้านล้านเยน
รวม 5 กลุ่ม มีกองทุนขนาดต่างๆ กันรวม 4,033 กองทุน ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดประมาณ 34 ล้านล้านเยน รวมกับกรณีที่มีการปรับค่าใช้จ่ายของประชากรกลุ่มอายุ 65-75 ปีราว 14 ล้านคน อีกราว 6 ล้านล้านเยน รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 40 ล้านล้านเยน ในปี2556 คิดเป็นเงินไทยราว 12.8 ล้านล้านบาท(1 บาท เท่ากับ 3.126 เยน) เท่ากับ 5.7 เท่าของงบประมาณประเทศไทยในปีเดียวกัน เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศคือ จีดีพี(GDP) เท่ากับ 9.5% ขณะที่ของสหรัฐสูงสุดถึง 17.8% เยอรมนีกับฝรั่งเศสเท่ากันคือ11.6% สหราชอาณาจักรเท่ากับสเปน คือ9.6% ของไทยประมาณ 4%
ญี่ปุ่นมีความภาคภูมิใจในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของตนเองมาก ประชาชนทั่วไปก็พอใจ และผู้ให้บริการคือ แพทย์พยาบาล ทันตแพทย์ และเภสัชกร เป็นต้น ก็พึงพอใจ ทั้งนี้เพราะจุดเด่น 4 ประการ คือ1) สามารถครอบคลุมประชากรได้ทั้งประเทศ2) ประชาชนสามารถเลือกไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ตามความพึงพอใจ 3) บริการทางการแพทย์มีคุณภาพสูง โดยสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายจนถือได้ว่ามีราคา "ไม่แพง" เพราะใช้งบประมาณเพียง 9.5% ของจีดีพี 4) มาตรฐานการบริการถือเป็น "มาตรฐานเดียว" ทั่วประเทศ โดยรัฐมีการใช้งบประมาณจากภาษีอากรสนับสนุน (Subsidy) เพื่อให้สามารถครอบคลุมประชากรได้ถ้วนหน้า ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายตามกำลังความสามารถ คือจ่าย "เบี้ยประกัน" (Premium)และร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ(Copayment)โดยร่วมจ่ายตามสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 10-30 และมีเพดานการร่วมจ่ายแต่ละครั้ง ซึ่งมีรายละเอียดที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 ธันวาคม 2556
- 2141 views