แพทย์รามาฯ ยัน “น้ำสีม่วง” ไม่ใช่กรด มีค่าเป็นกลาง รวมถึงแก๊สน้ำตาด้วย หากสัมผัสถูกแค่ปัดฝุ่นออก แล้วล้างน้ำสะอาด เตือนมีคนเข้าใจว่าเป็นกรดมากเพราะแสบผิว การใช้น้ำด่างล้างจะทำให้ยิ่งแสบร้อน ล้างที่ตาอาจทำให้ตาบอดได้ ยันไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเกลือ
เวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (4 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเรื่องแก๊สน้ำตา ว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดทำให้เกิดความเป็นห่วงในเรื่องแก๊สน้ำตา ซึ่งแม้จะเรียกว่าแก๊ส แต่ความจริงแล้วเป็นฝุ่นผงเล็กๆ ไม่ว่าจะยิงหรือขว้างออกไป เมื่อออกมาก็จะกลายเป็นฝุ่นผง ไม่มีความเป็นกรดหรือด่าง แต่มีคุณสมบัติทำให้เกิดความระคายเคือง ปัจจุบันมีอยู่ 4 ชนิดที่พบบ่อย คือ 1.คลอโรอะซิโทพีโนน (chloroacetophenone : cn) 2.ทู-คลอโรเบนเชสแมนโลโนไนไตรล (2-chlorobenzalmalononitrile : cs) 3.ไดเบนโซซาซีฟีน (dibenoxazepine : cr) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดเป็นที่ยอมรับว่าสามารถใช้ในการสลายการชุมนุมได้ และ 4.โอเลโอเรซินแคปซิคัมสเปรย์ (Oleoresin capsicum spray : oc) หรือสเปร์พริกไทย ที่มีการจำหน่ายให้ประชาชนใช้เพื่อการป้องกันตัว
ศ.นพ.วินัย กล่าวอีกว่า แก๊สน้ำตาไม่มีอันตรายในรูปแบบอื่นนอกจากผิวหนังระคายเคืองอักเสบและบวมแดง หากสัมผัสนานอาจเหมือนถูกไฟไหม้ หรืออาจจะอักเสบแพ้ได้ ส่วนบริเวณดวงตาจะส่งผลให้มีน้ำตาไหล แสบตา หนังตาบวม เยื่อบุตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น และอาจจะทำให้ตาบอดชั่วคราว หากกลืนเข้าไปจะทำให้แสบปาก น้ำลายไหล คลื่นใส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้ ด้านระบบทางเดินหายใจจะทำให้มีอาการแสบจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ จาม มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจจะทำให้ปอดบวมน้ำได้ ทั้งนี้ การรักษาเมื่อถูกแก๊สน้ำตา อับดับแรกจะต้องปัดฝุ่นออกให้หมด หลังจากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดนาน 10-15 นาที โดยให้ความระมัดระวังข้อพับ และใบหูเป็นพิเศษ และไม่ควรใช้ด่างเติมลงไปหรือใช้ล้างออก เพราะระหว่างการทำปฏิกิริยาของกรดและด่างจะทำให้เกิดการแสบร้อนเพิ่มขึ้น
“การปฐมพยาบาลจึงต้องใช้น้ำสะอาดล้าง และหากเป็นกรดซัลฟูลริก หรือกรดกำมะถัน ยิ่งต้องไม่เติมความเป็นด่างลงไป นอกจากนี้ การนำน้ำที่เป็นด่างมาล้างที่ดวงตา ยังเสี่ยงทำให้ตาบอดได้ นอกเหนือจากอันตรายที่เกิดการถูกแรงกระแทกจากการยิงแก๊สน้ำตาด้วย ซึ่งความจริงน้ำเกลือก็แทบไม่จำเป็น เพราะหลักการปฐมพยาบาลคือ ปัดฝุ่นออกและล้างด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุด” ศ.นพ.วินัย กล่าว
ศ.นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องของแผลผุพองของผู้ชุมนุมนั้น การโดนแก๊สน้ำตาจะพบอาการระคายเคืองได้หลายระดับ ทั้งแสบร้อน ไปจนถึงการเกิดแผลพุพอง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของแก๊สน้ำตาที่ได้รับ ทั้งนี้ ขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่เหมาะสมที่สุดคือ ต้องปัดฝุ่งผงแก๊สน้ำตาออกจากตัว หรือการถอดเสื้อผ้าทิ้ง ไม่ใช่การล้างน้ำทันที แต่ในภาวะที่ฉุกเฉินเข้าใจว่า การปัดฝุ่นคงทำได้ยาก แต่แม้ว่าจะล้างน้ำทันที ก็ไม่ทำให้แก๊สน้ำตาเป็นกรด เพราะผงแก๊สน้ำตาเป็นสารแขวนลอย ที่ไม่ผสมตัวกับน้ำ ซึ่งเข้าใจว่า การที่ความเข้มข้นเพิ่มขึ้นน่าจะเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมไม่ได้ถอดเสื้อผ้าออกหลังจากถูกแก๊สน้ำตาจึงสะสมไว้นานทำให้เกิดอาการระคายเคืองเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการของทางเดินหายใจนั้น ฝุ่นผงทำให้เกิดอาการระคายเคือง แน่นหน้าอกได้ แต่มีน้อยรายมากที่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำในปอดได้ ทั้งนี้ หากประชาชนมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสารเคมี สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนพิษวิทยา 1367 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ศ.นพ.วินัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นในการสลายผู้ชุมนุมคือ การใช้น้ำสีม่วง และมีข่าวลือทางโซเซียลมีเดียว่าเป็นน้ำกรด ซึ่งผู้ที่จะรู้ดีที่สุด คือ ตำรวจ ว่ามีการผสมอะไรลงไปบ้าง แต่หากค้นหาข้อมูลตามที่เข้าใจ สีม่วง นั้นคือ สีเฉยๆ ไม่ได้มีอันตรายอะไร และมีการปฐมพยาบาลเหมือนแก๊สน้ำตาทั่วไป ส่วนข่าวในสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่าแพทย์รามาธิบดี เป็นผู้ให้ข่าวว่าสารที่อยู่ในน้ำสีม่วงเป็นกรดกำมะถัน คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ได้มีการตรวจสอบและยืนยันว่าแพทย์ของรามาฯไม่เคยให้ข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด และยืนยันแนวทางการปฐมพยาบาลตามแนวทางที่ได้กล่าวมา
ศ.นพ.วินัย กล่าวอีกว่า คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ยังได้ประสานงานติดต่อกับแพทย์ที่วชิรพยาบาล ซึ่งรับผู้ชุมนุมที่โดนแก๊สน้ำตารักษา รวมทั้งได้เก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจสอบค่าความเป็นกรด เป็นด่างพบว่า ค่าของน้ำที่ได้คือ Ph7 คือ มีค่าเป็นกลาง ไม่ใช่กรด แต่ส่วนของสารประกอบที่อยู่ในน้ำสีม่วงจะเป็นอะไรนั้น ไม่ได้มีการตรวจสอบต่อ เพราะทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีวิธีใดที่จะสามารถนำตัวอย่างเข้าไปแล้วบอกได้ทันทีว่าคือ โครงสร้างของสารเคมีอะไร อย่างน้อยก็จะต้องรู้กลุ่มสารคร่าวๆก่อนนำไปตรวจสอบหาสารต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีการสุ่มตรวจโครงสร้างของสารเคมีแต่อย่างใด ทั้งนี้ การใช้น้ำสีม่วง เพื่อสลายการชุมนุมนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก และมีการใช้เพื่อปราบฝูงชนในที่อื่นเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตามตัวผู้ชุมนุมได้ถูก ส่วนอาการที่แสบคัน คาดว่าน่าจะผลจากจากโดนฝุ่นของแก๊สน้ำตามากกว่า โดยแก๊สน้ำตานั้น ไม่ได้มีฤทธิ์สะสมอยู่ในร่างกายในระยะยาวแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีชมรมแพทย์ชนบท มีการเผยแพร่ข่าวผ่านเพจชมรมแพทย์ชนบทในเฟซบุ๊ก ว่า สารน้ำสีม่วงได้ตรวจสอบ และพบว่ามีค่า Ph4 ซึ่งถือว่าเป็นกรดนั้น ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าแพทย์ชนบทเอาตัวอย่างจากที่ไหนไปตรวจสอบ แต่ในส่วนของ รพ.รามาฯ ได้ตรวจสอบและพบว่าน้ำดังกล่าวมีค่า Ph7 ซึ่งถือว่ามีความเป็นกลาง หรือ ปกติ
ที่มา : www.manager.co.th
- 30 views