ทุกวันที่ 1 ธ.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันโรคเอดส์สากล ในวันนี้ทุกประเทศทั่วโลกล้วนตระหนักถึงปัญหาโรคเอดส์ที่สะเทือนไปถึงความมั่นคงของชาติและปัญหาแรงงานตามมา หากไม่รณรงค์ให้ตระหนักหรือใส่ใจในการลดปัญหาผู้ติดเชื้อเอดส์

สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข การเข้ารับบริการตรวจเลือดเอชไอวียังอยู่ในระดับต่ำ มีเพียงร้อยละ 40 ของประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้เข้ามารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในรอบ1 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวน 4.8 แสนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่มีเพียง2.4 แสนคนที่ได้เข้ารับการรักษา ดังนั้นการสนับสนุนให้คำปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ประกอบกับบริการด้านการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นกลยุทธ์ของประเทศที่ต้องการจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และยังป้องกันการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ได้อีกด้วย

สถานการณ์โรคเอดส์ที่น่าตกใจของประเทศไทยก็คือ ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีอายุที่ลดน้อยลง กล่าวคือ ตรวจพบเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย อายุเพียง 25 ปีซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ5 ปีที่แล้ว พบผู้ติดเชื้อเอดส์อยู่ในกลุ่มวัย 30-35 ปี แต่ก็มีเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 1 หมื่นคนเท่านั้นและยังคงเป็นความพยายามของหน่วยงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ที่ยังต้องคร่ำเคร่งทำงานรณรงค์ลดปัญหาโรคเอสด์ให้เหลือศูนย์ต่อไป

รณรงค์ตรวจเลือดในคนวัยทำงาน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ มีความพยายามในการรณรงค์โครงการ VCT@WORK (Voluntary HIV Counselling and Testion at Work Programme) คือการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดเอชไอวีโดยสมัครใจ เปิดตัวครั้งแรกขึ้นในประเทศไทย โครงการนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยและทั่วโลก พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนได้รู้สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีของตัวเองตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วยการมีสุขภาพที่ดี

"ผู้ที่มีความเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจเชื้อเอชไอวี คือ หญิงบริการ และผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นผู้ที่ชอบสัก และกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ กลุ่มเสี่ยงนี้ควรเข้ามารับการตรวจเชื้อเอดส์ หรือผู้ที่ใช้ของร่วมสาธารณะที่มีการผ่านเลือด เช่น ตัดเล็บ ควรตรวจเลือดปีละ 2 ครั้ง เป็นสิทธิที่เราได้ตามกฎหมายไทย ซึ่งตามสถานพยาบาลมีการให้บริการเหล่านี้ด้วย แต่คนไทยบางคนไม่รู้ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพราะคนจะอยู่ในที่ทำงานวันละหลายชั่วโมง โครงการเราทำงานกับคนทำงาน เราจึงอยากสนับสนุนทำอย่างไรให้นายจ้างเข้าใจให้มีการตรวจเลือดในที่ทำงาน เราพบปัญหาตอนนี้คือ แรงงานที่มีทักษะในการทำงาน แต่วันหนึ่งเขาติดเอดส์ผู้ประกอบการบางคนไม่เข้าใจก็ไล่เขาออกเลย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเสียงบประมาณในการเทรนพนักงานใหม่ ต้องเสียเงินมากมาย แต่หากเราดูแลเขาได้โดยรักษาให้ถูกต้อง ให้กินยา เพราะเอดส์เป็นโรคที่รักษาได้ และการตรวจเลือดควรตรวจอย่างสมัครใจ และผลเลือดต้องเป็นความลับปกติคนจะคิดว่าเอดส์เป็นโรคที่น่ารังเกียจเราอยากเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ให้คนได้เข้าใจว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับคนติดเชื้อเอดส์ได้ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องดูแลคนกลุ่มนี้ เราพยายามประชาสัมพันธ์ตรงนี้"จิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการประเทศไทยและ สปป.ลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว กล่าว

ยกระดับแรงงานไทยหากรักษาเอดส์ได้ทันท่วงที

โครงการรณรงค์ให้มีการตรวจเอดส์ในสถานประกอบการ มีการรณรงค์กันระดับโลก หากประเทศไทยขอความร่วมมือให้สถานประกอบการต่างๆ ตรวจหาเชื้อเอชไอวีและคาดหวังว่าเจ้าของกิจการจะต้องสนับสนุนในการนำพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทมาตรวจจำนวน 1 แสนคน ในการเข้ารับการตรวจเลือดเอชไอวีโดยสมัครใจภายในสิ้นปี 2558 หากทำตามที่ตั้งเป้าได้จะช่วยยกระดับประเทศไทย

"แรงงานเองสามารถเกิดความมั่นคงนี้ได้ตลอดไป ผู้ประกอบการลดคอร์ส รักษาคนงานคนเดิมไว้ได้ระยะยาว ไม่ต้องเสียเงินเทรนพนักงานใหม่ ประเทศไทยจะสามารถเพิ่มทักษะด้านการแข่งขัน เพราะเราพึ่งพิงการส่งออก และในตลาดส่งออกประเทศคู่ค้าเรา เขามีมาตรฐานแรงงานอยู่ และเขาดูแลพนักงานที่ป่วยเอชไอวีอย่างดี หากไทยทำได้แบบเขา เราปราศจากการกีดกัน ถือเป็นการสร้างแรงงานที่ดี ทั่วโลกเขายอมรับแล้วว่าโรคเอดส์เป็นโรคที่จัดการได้ หากเราก้าวข้ามทัศนคติผิดๆ ได้ เราจะเกิดศักดิ์ศรีในการทำงาน เกิดมาตรฐานแรงงานสากลเพราะบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกทุกคนปฏิบัติตามเขาเอามาเป็นโลโก้ ลูกค้าจะมั่นใจว่าเรามีการแข่งขันด้านมนุษยชนสูง ผู้บริโภคจะให้การยอมรับ เพราะไม่มีการกีดกัน เช่น ไม่ใช้แรงงานเด็ก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สินค้าเราจะมีคุณค่า นี่คือข้อดีด้านเศรษฐกิจ หากเรายกระดับจิตใจของเรา" จิตติมา กล่าว

ณรงค์ให้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นศูนย์

นโยบายรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลกปี2556 ที่ว่า "Getting to Zero" หรือ "เอดส์ลดลงให้เหลือศูนย์" คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ ไม่อีกทั้งหากประเทศไทยจัดการกับปัญหาการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยเอดส์ใหม่ได้ ไทยจะเกิดความมั่นคงทางด้านแรงงาน

"นายจ้างลงทุนกับนายจ้าง ไม่อยากเสียลูกจ้างไป เรามีทางรักษาดูแล ถ้าเขาเข้าใจมากขึ้น เขาจะต้องพยายามเก็บคนงานให้นานที่สุด ระบบการรักษาก็ฟรี เรามองว่า

ตรงนี้เป็นส่วนช่วย ปัจจุบันเราเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุ อัตราการเกิดของประเทศไทยต่ำมากเมื่อเทียบในภูมิภาคเอเชียกล่าวคือหนึ่งครอบครัวจะมีลูกแค่ 1 คน และเด็ก 1 คน ในวัยนี้จะต้องเติบโตมาเลี้ยงผู้ใหญ่ 2 คน และเด็กอีก 1 คน ครอบครัวหนึ่งมีลูกแค่ 1 คน เด็กหนึ่งคนรัฐจะต้องเอาเงินมาเลี้ยงผู้ใหญ่ 2 คน และเด็กอีก 1 คน จากตัวเลขนี้กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าปีหน้าเราจะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง"จิตติมา กล่าวมีการเสียชีวิต เนื่องในวันเอดส์โลกและไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ ประเทศไทยก็ได้ตามงานภายใต้แนวคิดนี้ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์เอดส์ในเมืองไทยว่า ไทยเผชิญสถานการณ์โรคเอดส์มานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันสถานการณ์เอดส์ดีขึ้นกว่าสิบปีที่แล้วมากกล่าวคือ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีตายน้อยลง และระยะ 5 ปีหลังจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอดส์มีปริมาณคงที่ โดยมีผู้ติดเชื้อเอดส์ใหม่เพิ่มขึ้น1 หมื่นคนซึ่งดีกว่า 15 ปีที่แล้วที่มีผู้ติดเชื้อเอดส์มากถึง 1 แสนคน

"ตอนนี้รัฐบาลพยายามทำให้คนติดเชื้อใหม่ลดลงให้เหลือเพียง 2,000 คนจากหมื่นคน โดยมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยตรวจเอดส์เป็นปกติ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม โดยสามารถตรวจฟรีปีละสองหน ไปตรวจที่สถานพยาบาลที่ตนเองสะดวก ตรวจได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องถูกใครจำได้ว่าเป็นใครบ้าง เพราะเวลาประชาชนไปยื่นบัตร เลขบัตรป้อนไปในคอมพิวเตอร์ เลขบัตรจะถูกเปลี่ยนไปเป็นอีกเลขทันที ดังนั้นคนไปตรวจไม่ต้องกลัว เราพยายามเปลี่ยนกฎหมายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หากตรวจเสร็จตรวจเจอ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปเริ่มต้นรับการรักษาฟรีทันที ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สามในโลกที่หากใครติดเชื้อเราจะให้กินยาต้านได้ทันที เราสามารถกดเชื้อลง กินยาภายใน 6 เดือน ผู้ป่วยจะไม่เป็นพิษเป็นภัยแพร่ให้คนอื่น"

เมื่อนโยบายป้องกันเอดส์ให้เป็นศูนย์ดีขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีคนมาตรวจหาเชื้อเอชไอวีกันมากขึ้น และตรวจเป็นประจำในผู้ที่มีภาวะเสี่ยง ใครเสี่ยงควรตรวจปีละ 2 หน เพราะยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งไม่ป่วย ไม่ตายจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ก็จะมีอัตราการเสียชีวิตที่น้อยลง ซึ่งสื่อมวลชนต้องช่วยกันทำให้คนไทยเข้าใจถึงโรคเอดส์กันมากขึ้นสำหรับศูนย์ที่ 3 คือ ไม่มีการรังเกียจ หากเป็นแล้วอย่ากังวล ใครเป็นอย่ากีดกันเพราะเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องใจใส่ เป็นแล้วรักษา มีความคิดว่าโรคเอดส์เป็นโรคที่ปกติ หากคนไทยมีความคิดเช่นนี้ จะเป็นแรงสนับสนุนให้คนติดเชื้อเอชไอวีกล้าไปตรวจเช็ก

"เมืองไทยมีนโยบายดีมากในการลดเอดส์ให้เป็นศูนย์ได้ ถ้าเราลดได้ เอดส์จะไม่เป็นปัญหา ซึ่งพักหนึ่งเอดส์เป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ อย่างผู้ชายในวัยเกณฑ์ทหารติดเชื้อเอดส์เราก็แย่แล้ว หรือในกลุ่มคนวัยทำงานติดเชื้อไทยก็แย่แล้ว ป่วยปุ๊บทำงานไม่ได้ หน่วยงานนั้นก็ต้องหาแรงงานใหม่ในสาขาอาชีพต่างๆ เราป้องกันดีกว่า ด้วยการทำให้คนติดเชื้อไม่ตาย หากเราลดปริมาณคนติดเชื้อเอชไอวีได้ รัฐก็จะประหยัดงบประมาณรายจ่ายในระยะยาว"

คนติดเชื้อเอชไอวีอายุน้อยลง

สิ่งที่น่าห่วงสำหรับสถานการณ์เอดส์ในปัจจุบันคือ ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีอายุเด็กลง คุณหมอประพันธ์ บอกว่า เกิดเพราะการประชาสัมพันธ์ในการตระหนักเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีน้อยลงเยาวชนจึงไม่เห็นความสำคัญ เพราะคนเป็นเอดส์แล้วมีอัตราการตายที่น้อยลง เยาวชนไทยจึงไม่ระมัดระวัง จากสถิติพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เดินเข้ามาคลินิกนิรนามมีเพียง5% ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก และที่น่าตกใจคือ คนที่ติดเชื้อรายใหม่ตรวจพบเชื้อ8-9 ใน 10 คนในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีอายุน้อยต่ำกว่า 25 ปี เทียบกับเมื่อก่อนมักตรวจพบในคนอายุ 30-35 ปี สะท้อนว่าเราต้องเร่งรณรงค์ในวัยทำงานในกลุ่มเสี่ยงมากๆคือ ชายรักชาย ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก และเพื่อเป็นการรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลก1 ธ.ค.นี้ สภากาชาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขเตรียมจัดงาน "คนรุ่นใหม่ใส่ใจเอดส์" ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. ณ ชั้น 4 เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน จุดประสงค์การจัดงานเพื่อกระตุ้นเตือนให้คนตระหนักเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีและกระตุ้นให้ผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ไปตรวจเลือดฟรีในงาน

"หากตรวจเจอเชื้อเอชไอวีเร็ว ก็รักษาเร็วได้ ทุกคนไม่ว่าใครก็ตามตรวจเอดส์สักครั้งหนึ่งในชีวิต ตรวจพร้อมกันกับสามีภรรยา หากตรวจไม่พบแล้วไม่ได้มีภาวะเสี่ยงก็ไม่ต้องไปตรวจอีก หากเรารู้วิธีป้องกันที่ดี แต่ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเรื่อยๆจำเป็นต้องตรวจ ทุกคนพูดตรงกันว่า การรักษาหรือยาไม่เป็นปัญหา แต่ละประเทศมียาเข้าถึงคนได้เกือบหมด มียาแต่ไม่มีคนมารักษา มารักษาก็แย่แล้ว ตายก็เยอะเราอยากให้ยาถึงคนได้เร็ว ทุกคนจึงต้องตระหนัก ทำให้เหมือนตรวจเบาหวานทุกๆ ปี"

เอดส์ป้องกันได้

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคเอดส์สามารถป้องกันได้โดยการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์ คนที่ติดเชื้อใหม่นั้นจะติดมาจากคนที่ติดเชื้ออยู่ก่อนแต่ไม่รู้ตัวเพราะไม่เคยไปตรวจหรือไม่มีอาการอะไร คนที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการอะไรเลยเป็นปีๆ หรืออาจมีอาการป่วยขึ้นมากะทันหันจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นการตรวจ Anti-HIV จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยไม่ต้องรอให้มีอาการ ซึ่งสามารถตรวจพบได้หลังจากรับเชื้อมาแล้ว 2-6 สัปดาห์ แต่ถ้าอยากตรวจพบให้เร็วขึ้น เช่น ภายหลังรับเชื้อมาเพียง 3-7 วัน ก็สามารถตรวจด้วยวิธี Nucleic Acid Technology (NAT) ซึ่งในปัจจุบันคลินิกนิรนามก็ให้บริการตรวจด้วยวิธี NAT ทุกราย ถ้าการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธีแรกแล้วไม่พบการติดเชื้อ นอกจากนี้ คนไทยทุกคนก็ยังสามารถใช้สิทธิตรวจหาAnti-HIV ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศไทยโดยตรวจฟรีได้ปีละ 2 ครั้งตามชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2556