กรุงเทพธุรกิจ - สธเดินหน้าค่าตอบแทนฉบับประชาคมสาธารณสุขแต่ไร้แพทย์ชนบทเข้าร่วม"หมอประดิษฐ" ระบุทำตามข้อเรียกร้องแพทย์ชนบทแล้ว เตรียมดันเคาะในคณะกรรมการค่าตอบแทนชุดใหญ่อีกครั้ง 29 ธ.ค.

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยเมื่อวานนี้(25 พ.ย.) ว่า จากการประชุมค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีปลัดกสธ. เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจาก 21 สายวิชาชีพ เข้าร่วม ยกเว้นตัวแทนชมรมโรงพยาบาลชุมชนและชมรมแพทย์ชนบทที่ไม่เข้าร่วม โดยเป็นการนัดประชุมตามที่ทางแพทย์ชนบทเสนอที่ขอให้ปรับปรุงค่าตอบแทน 4 ประเด็น คือ

1.การปรับอัตราค่าตอบแทนให้กับแพทย์ที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป 2.การปรับอัตราค่าตอบแทนความต่างกรณีที่ได้ต่ำกว่าโรงพยาบาลทั่วไป 3.การออกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 10 และ 4.การขอพิจารณาปรับเพิ่มในส่วนแพทย์ชนบทก่อน

ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาและต่างเห็นว่า อยากให้เดินหน้าหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามที่ดำเนินการอยู่ ทั้งฉบับที่ 8.1 และฉบับที่ 9 ที่เป็นการจ่ายตามภาระงาน และจะมีการนำเข้าเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ ซึ่งมีตนเป็นประธานในวันที่ 29 พ.ย. และตนจะนำข้อเสนอของทางแพทย์ชนบทเข้าพิจารณาอีกครั้ง เพื่อตัดสินก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป ซึ่งอยากให้ทางชมรมแพทย์ชนบทเข้าร่วมในฐานะกรรมการร่วมพิจารณาด้วย

 "จะเห็นได้ว่าผมได้ทำตามข้อเรียกร้องของแพทย์ชนบทแล้ว และแม้ว่าทางคณะทำงานจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแพทย์ชนบท แต่ผมยืนยันจะขอให้นำข้อเสนอแพทย์ชนบทเข้าพิจารณาต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง และเห็นว่าแพทย์ชนบทควรที่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงและพูดคุย เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจกันด้วยดี ซึ่งหากไม่เข้าร่วมผมก็ลำบากใจ อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าผมได้พยายามทำตามที่แพทย์ชนบทเสนอแล้ว ดังนั้นที่จะไปชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีก็คงไม่จำเป็น เพราะผมได้พยายามทำทุกขั้นตอนและทุกวิถีทางแล้ว" รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการพิจารณาค่าตอบแทนที่มีผู้แทน 21 สายวิชาชีพเข้าร่วม ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับประชาคมสาธารณสุข หรือฉบับที่ 8.1 ส่วนฉบับที่ 9 ที่เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามการประเมินผลปฏิบัติงาน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน และคุณภาพงาน แบ่งเป็นสัดส่วน 50:50

และหลังจากนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐต่อไป เพื่อให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค. นี้ และจะใช้ไปจนถึงวันที่ 1 เม.ย.2557  ซึ่งระหว่างนี้ตัวแทนทุกวิชาชีพจะต้องมาร่วมจัดค่าตอบแทนใหม่เพื่อนำเสนอต่อ ครม. โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เม.ย.

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าประชาคมสาธารณสุขคิดอย่างไร ซึ่งมีทั้งหมด 28 สายวิชาชีพ มีเจ้าหน้าที่ทั้งข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราว 400,000 คน เราไม่อยากให้ค่าตอบแทนเป็นประเด็นการเมือง แต่เป็นการทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบ ซึ่งทุกคนกำลังรอการจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน ถือเป็นหัวใจการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับทุกคน

สำหรับบรรยากาศก่อนหน้าการประชุม ตัวแทนกลุ่มพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขราว 1,000 คน จากทั่วประเทศ ได้มาร้องขอความเป็นธรรมการปรับปรุงค่าตอบแทนวิชาชีพ

แพทย์ชนบทบุกบ้านนายกฯวันนี้

ขณะที่นพ.อารักษ์ วงษ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า จะไม่เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เพราะมีการตั้งคนที่มีความเห็นแตกต่างกันตั้งแต่ต้นเข้ามา อีกทั้งเรื่องนี้จบไปแล้วตั้งแต่ที่มีมติครม.ออกมาเมื่อเดือนมิ.ย.2556 แล้ว ทั้งนี้เห็นว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำจะต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นคือระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 4,6 แล้วจะไปเพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้กับวิชาชีพอื่นๆ อย่างไรนั้นก็ไม่เป็นปัญหา

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ในที่ 26 พ.ย.นี้ ได้นัดหมายไปชุมนุมที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ทราบจำนวนผู้ที่จะมาร่วมชุมนุมว่ามากน้อยแค่ไหน

พยาบาลลูกจ้างร้องขอบรรจุ27%

วันเดียวกัน นางสาวศิริรัตน์ วงษ์บุดดา ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาเพื่อเรียกร้องให้ทางกระทรวงสาธารณสุขทำการบรรจุลูกจ้างสายวิชาชีพด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งตนไม่ขัดข้องในการกระจายตำแหน่งที่ได้มาให้กับวิชาชีพอื่นๆ แต่ในส่วนของพยาบาลลูกจ้างนั้นขอให้ทาง สธ. แบ่งสัดส่วนมาให้ 27% ของการบรรจุเป็นข้าราชการใน 2 รอบที่เหลือ หรือคิดเป็นรอบละ 4,571 คน จากเดิมในการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพเป็นข้าราชการนั้น สัดส่วนที่พยาบาลลูกจ้างได้รับการจัดสรรมาเพียง 21% เท่านั้น

ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่าพยาบาลเป็นกลุ่มที่เป็นพลังหลักที่มีความใจกว้างที่ไม่กีดกั้นให้เพื่อนๆ ลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพอื่นๆ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการด้วย ซึ่งจากข้อเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลเข้าใจว่ามีความกังวลใน 2 เรื่อง คือเรื่องหลักเกณฑ์การบรรจุที่ให้อำนาจเขตเป็นผู้ดำเนินการนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องการตีความคำสั่งที่ไม่เหมือนกัน กับปัญหาเรื่องความเป็นธรรม การใช้เส้นสาย ซึ่งตรงนี้การที่มอบอำนาจให้เขตเป็นผู้ดูแลเนื่องจากต้องการจะกระจายอำนาจ และความรับผิดชอบไปให้

ส่วนข้อกังวลที่ 2 คือเรื่องสัดส่วนของวิชาชีพที่จะได้รับการบรรจุนั้น ขณะนี้ทางเขตได้ส่งจำนวนอัตราความต้องการมายังกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งตนจะต้องนำเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาสัดส่วนข้าราชการทั้งระหว่างเขต และระหว่างวิชาชีพในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รวบรวมตำแหน่งข้าราชการที่ว่างลงจากการเกษียณ การลาออกของข้าราชการเดิมมาได้ 1,300 ตำแหน่ง ก็จะเอามาบรรจุให้กับลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มเติมจากอัตราที่ได้รับอนุมัติมาในรอบที่ 2 และ 3 โดยในจำนวนนี้วิชาชีพพยาบาลจะได้ไป 800 ตำแหน่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556