บอร์ดสปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว/มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ด้วยวิธีสเต็มเซลล์ ชี้ช่วยประหยัดงบเคมีบำบัด คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ปีงบ 57 มีผู้ป่วยได้รักษาวิธีนี้ 40 ราย ค่าใช้จ่ายรายละ 8 แสนบาท คาดปี 61 จะมีผู้ป่วยได้รับการรักษา 60 ราย มีรพ.ที่ให้การรักษาได้ทั่วประเทศ 8 แห่งที่ขึ้นทะเบียนการรักษากับสปสช.
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า บอร์ดสปสช.ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโดยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2556 วันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบในหลักการกรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell Transplantation) สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยให้เป็นไปตามข้อบ่งชี้เฉพาะตามที่เสนอ (ยกเว้นผู้ป่วยธาลัสซีเมีย) เมื่อผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังแล้ว ดังนั้นคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง จึงได้ประชุม วันที่ 17 กันยายน 2556 และมีมติว่า เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับบริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดตามเงื่อนไขนี้ จะทำให้สามารถประหยัดงบประมาณจากการที่ไม่ต้องให้เคมีบำบัด และทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง จึงมีมติเห็นชอบกรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยให้เป็นไปตามข้อบ่งชี้เฉพาะที่ปรับปรุง (ยกเว้นผู้ป่วยธาลัสซีเมีย) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป ให้นำเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทราบต่อไป โดยให้มีการคำนวณภาระงบประมาณในระยะยาวเพิ่มเติม
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 เห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ได้ โดยคาดการณ์ค่าใช้จ่ายการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามเงื่อนไขเฉพาะใหม่ และในปี 2557 มีโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนให้บริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้ 5 แห่ง ได้แก่ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.พระมงกุฏเกล้า รพ.จุฬาลงกรณ์ และรพ.สงขลานครินทร์ สำหรับรพ.สงขลานครินทร์ในปี 2557 รักษาได้เฉพาะผู้ใหญ่ แต่ในปี 2558 จะสามารถรักษาผู้ป่วยเด็กได้ และในปี 2559 จะมีรพ.ในการให้บริการเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ รพ.มหาราชเชียงใหม่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ในปี 2557 จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา 40 ราย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายละ 800,000 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งปี 32 ล้านบาท ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษานั้นจะเพิ่มขึ้นทุกปี และคาดว่าในปี 2561 จะมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ 60 ราย
“สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น หัวใจสำคัญนอกจากทำให้ประชาชนมีหลักประกันในการรักษาพยาบาลแล้ว ยังคือการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่จำเป็น แม้ว่าจะเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม ซึ่งทิศทางการทำงานของบอร์ดสปสช.จะให้ความสำคัญกับหลักการคุ้มครองประชาชนได้รับบริการรักษาพยาบาลที่จำเป็น อย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า” เลขาธิการสปสช. กล่าว
- 110 views