นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จาก รายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ซึ่งจัดทำโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดของหญิงไทย โดยมีผู้ป่วยทั่วประเทศสูงกว่า 20,000 คนต่อปี จึงได้จัดหาเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัยมาใช้ในการให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อยืนยันและเพิ่มคุณภาพการตรวจรักษาและวินิจฉัยมะเร็งเต้านม โดยนำเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมอนุภาคโพสิตรอนหรือเครื่อง PEM ซึ่ง เป็นเครื่องแรกในภูมิภาคอาเซียนมาใช้ในโรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้ง เครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ในการวิจัย ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษา ดูงานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า เครื่อง PEM ออกแบบมาเพื่อตรวจเต้านมโดยเฉพาะ มีโปรแกรมช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยเพื่อส่งตรวจ โดยมีความละเอียดสามารถตรวจหามะเร็งที่มีขนาดเล็กได้ถึง 2 มิลลิเมตร การทำงานใช้หลักการถ่ายภาพรังสีแกมมาพลังงานสูง ที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีชนิดให้อนุภาคโพสิตรอน ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ สารนี้จะถูกจับโดยเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของร่างกายในปริมาณ ที่แตกต่างกัน มะเร็งเต้านมมีการแบ่งตัว ในอัตราที่รวดเร็วทำให้ต้องการอาหารซึ่งคือน้ำตาลในปริมาณมาก ก้อนมะเร็งจึงจับสารเภสัช รังสีในปริมาณที่มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ดังนั้นการถ่ายภาพเต้านมด้วย เครื่อง PEM จะได้ภาพรังสีของเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งเต้านมเป็น จุดสว่าง เมื่อเทียบกับเนื้อเต้านมปกติ การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อผู้ป่วย 1 ราย จึงสามารถให้บริการตรวจผู้ป่วยได้ไม่เกินวันละ 4 ราย ปัจจุบันศูนย์ถ่ายภาพเต้านมอนุภาคโพสิตรอน ได้ทำการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไปแล้ว จำนวน 11 ราย ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02-3548108 ต่อ 2516
- 648 views