โพสต์ ทูเดย์ - โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ปัจจุบันชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ซึ่งมิได้ตั้งต้นด้วยตัว ส. เหมือนองค์กรตระกูล ส.อื่นๆแต่ถือเป็นหนึ่งในองค์กรตระกูล ส.เพราะเกิดจากความคิดและการผลักดันขององค์กรตระกูล ส. คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. โรงพยาบาลบ้านแพ้วเดิม เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง มีสถานะเป็นหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ได้ "ออกนอกระบบ" ไปเมื่อปีพ.ศ. 2543 โดย สวรส.สมัยนั้นใช้ "วิกฤตเป็นโอกาส" จากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปีพ.ศ. 2540 โดยการเสนอแนวคิดต่อผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) ให้เพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลของรัฐโดยการให้ออกนอกระบบราชการ
ปัญหาของโรงพยาบาลอยู่ที่เรื่องของการรวมศูนย์อำนาจอยู่ในส่วนกลาง ระบบระเบียบราชการที่ไม่สามารถทำให้เกิดระบบธรรมาภิบาล(Good Governances) ได้ ตรงกันข้ามกลับ
กลายเป็นพันธนาการที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ การบริหารคนในระบบราชการเอง บวกกับการแทรกแซงจากระบบการเมือง ทำให้ไม่สามารถรักษาระบบคุณธรรม (Merit System) ไว้ได้ การให้โรงพยาบาลออกนอกระบบจึงเป็น "วิธีการรักษาโรคที่ถูกต้อง" และโชคดีของโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่ได้ผู้บริหารอย่าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุลมาเป็นผู้บริหารคนแรก จนสามารถสร้างประวัติศาสตร์โรงพยาบาลที่เป็น "องค์การมหาชน" ได้อย่างน่าชื่นชม
อันที่จริง นพ.วิทิต ก็เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรอนจ.อุตรดิตถ์ แต่พันธนาการของระบบราชการอันล้าสมัย ทำให้ นพ.วิทิต ไม่สามารถ "เปล่งประกาย" สร้างผลงานได้โดดเด่นอะไรมากนักเพราะระบบรวมศูนย์อำนาจและระบบระเบียบราชการของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ มีสภาพเป็นเสมือนต้นไม้"ในกระถาง" ที่ยากจะเติบโตเต็มที่ได้
การเปลี่ยนสถานะของโรงพยาบาลบ้านแพ้วให้เป็น "องค์การมหาชน" เปรียบเสมือนการยกต้นไม้ออกจากกระถางแล้วปลูกลงในผืนดินให้ผู้บริหารอย่าง นพ.วิทิต และคณะกรรมการบริหารร่วมกันฟูมฟักจนเติบใหญ่และสามารถขยายพันธุ์ออกไปได้อย่างน่าอัศจรรย์
เริ่มต้นจากโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ในอำเภอในเขตชนบทกึ่งเมืองขนาดกลางปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง และขยายสาขาออกไปอีกถึง 9 แห่ง ได้แก่ 1) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว 2 จ.สมุทรสาคร 2) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาพร้อมมิตร) กรุงเทพมหานคร3) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) กรุงเทพมหานคร 4) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาเกษตรพัฒนา) จ.สมุทรสาคร5) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาหลักห้า)จ.สมุทรสาคร 6) ศูนย์แพทย์ชุมชนราษฎร์บำรุงจ.สมุทรสาคร 7) ศูนย์แพทย์ชุมชนหลักสามจ.สมุทรสาคร 8) ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องธนบุรีกรุงเทพมหานคร 9) ศูนย์แพทย์ชุมชนธนบุรีกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ยังจัดบริการเคลื่อนที่เช่น จัดหน่วยผ่าตัดต้อกระจก จนสามารถให้บริการแก่คนไข้หลายหมื่นรายให้ได้รับการผ่าตัดจนกลับมามองเห็นได้อีก ไม่ต้อง "ตามืดมัว" รอคิวเป็นปี
การขยายบริการออกไปให้ประชาชนสามารถ "เข้าถึง" ได้โดยสะดวก ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
ที่น่าสนใจ คือ การลงทุนขยายโรงพยาบาลและสาขาออกไปมากมายเช่นนี้ แทบไม่ต้องพึ่งพางบลงทุนจากกระทรวงสาธารณสุขเลย โดยปีแรกที่ออกนอกระบบต้องพึ่งงบอุดหนุนจากรัฐบาล 42% แต่หลังจากนั้นงบอุดหนุนก็ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 2-7% เท่านั้น และหลังปี พ.ศ. 2550 กระทรวงสาธารณสุขก็มิได้จัดสรรงบอุดหนุนให้อีกเลย
น่าประหลาดที่ความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านแพ้วปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนเช่นนี้กระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ยอม "ปลดปล่อย"โรงพยาบาลในสังกัดออกไปเป็นองค์การมหาชนเช่นนี้อีกเลย เมื่อนพ.มงคล ณ สงขลา กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามจะขยายผลเพิ่มโรงพยาบาลให้เป็นองค์การมหาชน แต่ถูกขัดขวางอย่างแรงจากฝ่ายข้าราชการประจำ จน "ปลดปล่อย"สถานีอนามัยออกไปได้อีกราวยี่สิบแห่งเท่านั้นn
จัดหน่วยผ่าตัดต้อกระจก จนสามารถให้บริการแก่คนไข้หลายหมื่นรายให้กลับมามองเห็นได้อีก ไม่ต้อง "ตามืดมัว"รอคิวเป็นปี
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556
- 571 views